การเงินข่าวเศรษฐกิจ

กกพ. เตรียมเคาะค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 จะ “ขาลง” จริงไหมต้องลุ้น

ปลายเดือนนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เตรียมเคาะค่าเอฟที (Ft) งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 คนใช้ไฟบ้าน ไฟโรงงาน ไฟในประเทศไทยทั้งหมด ต้องเช็ก หลังตอนนี้เปิดรับความเห็นจะปรับเป็นกี่สตางค์ต่อหน่วย 3 กรณี

หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยในการประชุมของกกพ. ครั้งที่ 32/2566 (ครั้งที่ 860) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ดังนี้

  • กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ปรับค่า Ft เป็น 249.81 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระเงิน กฟผ. 135,297 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย
  • กรณีที่ 2 (ตรึงค่า Ft เท่ากับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66) ค่า Ft อยู่ที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงิน กฟผ.38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย
  • กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ค่า Ft ลดลงมาที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงิน กฟผ.แบ่งเป็น 5 งวดๆ ละ 23,428 ล้านบาท โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.66 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ.จำนวน 111,869 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ลดลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.
กกพ เคาะค่าไฟ
ภาพ @สำนักงาน กกพ.

สำหรับผลการคำนวณประมาณค่า FT และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นเป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ.ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้การประมาณการค่าเอฟทีในรอบคำนวณเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค.-ส.ค.58 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค.-ส.ค.66

ทั้งนี้ รายงานจากสำนักงาน กกพ. ระบุ จากปัจจัยทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มคลายตัวรวมทั้งแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่แกว่งตัวในระดับต่ำ ทำให้การนำเข้า LNG เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติทางท่อที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่ยังคงมีภาระที่ กฟผ. ต้องแบกรับจากภาระต้นทุนราคา LNG ในช่วงวิกฤตพลังงานมากกว่าแสนล้านบาทแทนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องทยอยจ่ายคืน

ส่งผลให้ทางเลือกค่าเอฟทีที่ต่ำสุดที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วยหรือค่าไฟฟ้า 4.45 บาทต่อหน่วยตามที่ กฟผ. เสนอ โดย กกพ. เปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 7 – 21 ก.ค. 2566 ก่อนประกาศใช้จริงปลายเดือน กรกฎาคมนี้.

ข่าวกกพวันนี้
ภาพ @สำนักงาน กกพ.

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button