ข่าวข่าวการเมืองเลือกตั้ง 66

‘ลงชื่อถอดถอน ส.ว.’ ได้ไหม เปิดข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ปี 60

เปิดข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ประชาชนคนไทยสามารถ “ลงชื่อถอดถอน ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) ได้ไหม? หลังเกิดกระแสดราม่า “ส.ว. มีไว้ทำไม” พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์

เช็กข้อกฎหมายไขคำตอบ ประชาชนสามารถลงชื่อ ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ได้ไหม? จากกรณีการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ไม่โหวด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จนโลกโซเชียลแห่ตั้งคำถามว่า “ส.ว. มีไว้ทำไม” หากไม่รับฟังเสียงข้างมากจากประชาชน การเลือกตั้ง 2566 เท่ากับสูญเปล่า? อ้างอิงตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 ไม่ได้ให้อำนาจแก่ประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 โดยมีรายละเอียดข้อกฎหมายดังนี้

เช็กกฎหมาย “สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.” ประชาชนลงชื่อถอดถอนได้ไหม?

สรุปชัด รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 ไม่ได้ให้อำนาจแก่ประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอน ส.ส. และ ส.ว ดังเช่นที่เคยกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ทั้งนี้อ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุมีเพียง 3 มาตราเท่านั้น ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อ และเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ประกอบด้วย

มาตรา 138

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

มาตรา 236

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถเข้าชื่อกล่าวหา ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช. ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจที่มีตามรัฐธรรมนูญ

มาตรา 256

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาได้

ทั้งนี้ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ที่ไม่ใช่ฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์รำ่รวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้”

ส่วน มาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ให้อำนาจประชาชนไม่น้อยกว่า 20,000 คน ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมาตราดังกล่าวระบุว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้บุคคลตามมาตรา 270 ออกจากตำแหน่งได้”

Can you sign a petition to remove a senator 2566

รัฐธรรมนูญระบุ “ส.ว.” มีไว้ทำไม?

แม้หลายคนอาจสงสัยถึงความจำเป็นที่ว่า “ส.ว.” มีไว้ทำไม เพราะไม่ค่อยได้เห็นบทบาทหน้าที่การทำงานเพื่อประชาชนผ่านสื่อมวลชนเท่าไหร่ ยกเว้นแต่การประชุมสภาฯ ในบางช่วงเวลาเป็นส่วนใหญ่ แต่หากตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราชปี 2560 ในบทบัญญัติหลัก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้

  • พิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย ได้แก่ การกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ ,การอนุมัติพระราชกำหนด ,การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
  • ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสามารถการตั้งกระทู้ถาม ,เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา และ เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา
  • การตั้งกรรมาธิการ
  • ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ,คณะกรรมการการเลือกตั้ง ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน ,คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาต ,คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชา

และอำนาจที่สำคัญที่สุดของ 250 ส.ว. ชุดปัจจุบันคือ มีสิทธิออกเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายก แม้ว่าจะไม่ได้ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ของตาม อำนาจที่เยอะขนาดนี้นี่เอง ทำให้การเมืองไทยปัจจุบันหลังก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ไม่แน่นอนว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หรือไม่ เนื่องจากรวมเสียง ส.ส. ได้ไม่ถึง 375 เสียง

เงื่อนไขให้ ส.ว. พ้นจากตำแหน่ง

หากแต่ว่าสมาชิกวุฒิสภาอันทรงเกียรติ ปรากฏอยู่ในเกณฑ์ที่กล่าวมาจะถือว่าให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ว. ตามรายละเอียดข้างล่างนี้ครับ

  • ออกตามกำหนดอายุของวุฒิสภา
  • เสียชีวิต
  • ลาออกจากตำแหน่ง
  • ตรวจพบว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108
  • ขาดประชุมเกินจํานวน 1 ใน 4 ของจํานวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกําหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา
  • ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
  • กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 113 หรือกระทําการอันต้องห้ามตามมาตรา 184, มาตรา 185
  • พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

ลักษณะต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ทั้งหมด 18 ข้อ

  1. ติดยาเสพติดให้โทษ
  2. เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  3. เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
  4. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96
  5. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  6. ต้องคําพิพากษาให้จําคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  7. เคยได้รับโทษจําคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  8. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  9. เคยต้องคําพิพากษา หรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  10. เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  11. เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  12. เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่ง หรือเงินเดือนประจํานอกจากข้าราชการการเมือง
  13. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  14. เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2ปี
  15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ
  17. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
  18. เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

อ้างอิง : 1 2

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button