ท่องเที่ยว

‘ตึกหุ่นยนต์’ ภาพแทนอาคารยุคโมเดิร์น รีบไปดูก่อนจะเหลือเพียงความทรงจำ

กำลังเป็นที่พูดถึงในแวดวงสถาปัตยกรรมไทยช่วงนี้สำหรับ “ตึกหุ่นยนต์” หรือ “Robot Building” ที่แว่วข่าวมาว่ากำลังจะทำการรีโนเวทใหม่เป็นอาคารกระจก ซึ่งอาจทำให้อัตลักษณ์และกลิ่นอายของความเป็นสิ่งก่อสร้างในยุคโมเดิร์นจางหายไปจากเมืองไทย โดยเรื่องนี้เป็นจุดกำเนิดความเห็นของสังคมที่เสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย

สำหรับฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าตัวแทนของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นควรจะยังดำรงอัตลักษณ์เอาไว้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถึงการเปลี่ยนผ่านนุคสมัยในเมืองไทยผ่านงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม ทว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์สิ่งก่อสร้าง ที่หากจะรีโนเวทตึกในสภาพใดแล้วก็ย่อมทำได้ แม้จะค้านสายตาของสังคมก็ตาม

และเนื่องด้วยประเด็นดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจ เดอะไทยเกอร์จึงขอถือโอกาสนี้พาทุกคนไปทำความรู้จักกับตึกหุ่นยนต์ สิ่งก่อสร้างที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นภาพแทนของยุคสมัยหนึ่ง และปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นเพียงภาพจำในอนาคต ตึกหุ่นยนต์นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร พิกัดตั้งอยู่ตรงไหน หากใครต้องการจะเดินทางไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจะไปยังไง ติดตามอ่านทุกประเด็นไปพร้อมกันได้เลยที่นี่

ตึกหุ่นยนต์
ภาพจาก : Google Maps

เปิดพิกัด ‘ตึกหุ่นยนต์’ อยู่ที่ไหน ตึกแห่งประวัติศาสตร์ชาวสาทร มีที่มาอย่างไร

สำหรับประวัติตึกหุ่นยนต์ สาทร (Robot Building) เป็นอาคารสำนักงานสูง 20 ชั้น ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ออกแบบโดย “ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา” เจ้าของตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย) ซึ่งมีแรงบันดาลใจการออกแบบตึกมาจากของเล่นลูกชาย

แต่เดิมตึกหุ่นยนต์เป็นอาคารสำนักงานของธนาคารเอเชีย (Bank of Asia – BoA) แต่เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อจึงทำให้ตัวอาคารถูกขายต่อไปยังธนาคารยูโอบี (UOB) โดยตัวอาคารของตึกหุ่นยนต์ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2529 ซึ่งการออกแบบรูปทรงอาคารน้นถือคติว่าเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (ในยุคนั้น) มาให้บริการแก่ลูกค้าของทางธนาคาร

ตึกหุ่นยนต์ uob
ภาพจาก : Google Maps

หนึ่งในเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตึกหุ่นยนต์คงหนีไม่พ้น น็อตยักษ์ ที่เป็นการดีไซน์หน้าต่างให้ที่รูปทรงเหมือนน็อตขนาดใหญ่ฝังไว้ข้างตัวอาคาร พร้อมการออกแบบตัวตึกที่เป็นสี่เหลี่ยม โดยมีขนาดฐานที่ติดกับพื้นใหญ่ที่สุด ไล่ขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงยอดตึก ซึ่งเป็นเหมือนส่วนหัวของหุ่นยนต์ พร้อมด้วยบานกระจกวงกลมที่ทำหน้าที่เป็นหน้าต่างสองบานวางติดกันประหนึ่งลูกตาของหุ่นยนต์ นับเป็นดีไซน์ที่ออกแบบมาเพื่อให้มองรูปทรงได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี แม้จะมีข่าวการรีโนเวทเปลือกอาคาร (Facade) ให้เป็นดีไซน์แบบกระจกล้วนในเร็ว ๆ นี้ ทว่ารูปทรงดั้งเดิมของตึกหุ่นยนต์นั้น ครั้งหนึ่งเคยได้รับเลือกจากพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย นครลอสแอนเจลิส ให้เป็นหนึ่งใน 50 อาคารที่สมบูรณ์แห่งศตวรรษ ส่งผลให้ ดร.สุเมธ กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากบัณฑิตยสภาสถาปัตยกรรมและการออกแบบแห่งชิคาโก (Athenaeum Museum of Architecture and Design)

ตึกหุ่นยนต์ สาทร
ภาพจาก : Google Maps

ทั้งนี้หากใครสนใจจะเดินทางไปถ่าบรูปกับตึกหุ่นยนต์เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก่อนที่ตัวอาคารจะถูกรีโนเวทไม่เหลือเค้าเดิม ก็สามารถเดินทางได้โดยการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ซึ่งนับว่าเป็นเส้นทางการไปยังตึกหุ่นยนต์ที่สะดวกที่สุดแล้ว โดยท่านสามารถลงที่สถานีสุรศักดิ์และเดินย้อนสถานีไปประมาณ 10 นาที ก็จะพบกับตึกหุ่นยนต์

ทว่าในขณะนี้ได้มีการนำผ้าใบมาขึงรอบตึกเพื่อทำเป็นเขตก่อสร้าง ใครที่เดินทางไปตึกหุ่นยนต์เพื่อหวังจะเก็บบรรยากาศภาพที่ระลึก ก็อาจจะได้เห็นแค่โครงของตัวอาคารที่มีผ้าใบห่อหุ้มอย่างมิดชิดมาแทน แต่กระนั้นแล้วครั้งหนึ่งตึกหุ่นยนต์ก็เคยเป็นหลักฐานการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาแล้วในยุคหนึ่ง

ตึกหุ่นยนต์
ภาพจาก : Google Maps

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button