อ.เจษฎา อธิบาย ทำไมกินเยอะยังผอม หลัง ‘ไจ เหว่ย กู่’ โชว์กินเตี๋ยวเรือ 61 ชาม
อ.เจษฎา อธิบาย ทำไมกินเยอะยังผอม หลัง ‘ไจ เหว่ย กู่’ อินฟลูเอนเซอร์ไต้หวันโชว์กินดุ ก๋วยเตี๋ยวเรือ 61 ชาม ข้าวมันไก่อีก 3 กิโล
จากกรณีที่ ไจ เหว่ย กู่ (Jai-Wei-Ku) อินฟลูเอนเซอร์สาวสวยชาวไต้หวันโชว์กินดุพิชิตทั้งข้าวมันไก่ไจแอนท์ ปริมาณ 3 กิโลกรัม รวมไปถึงก๋วยเตี๋ยวเรือ 60 ชาม และขนมถ้วยอีก 24 ถ้วย สร้างกระแสฮือฮาไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจากข่าวของเธอนั้นทำให้ชาวเน็ตสงสัยว่าเธอกินดุขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะรูปร่างของเธอนั้นดูไม่เหมือนกับคนกินดุเลย
ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กอธิบายว่าเบื้องหลังของ ไจ เหว่ย กู่ นั้นมาจากอะไรกันแน่ โดย อ.เจษฎา ระบุว่า “มีคนทักเข้ามาว่า เมื่อเช้านี้ “รายการเรื่องเล่าเช้านี้” ทางช่องสาม คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้ตั้งคำถามโดยตรงถึงผม ว่าสาวไต้หวันคนที่อยู่ในข่าวนี้ เค้ากินเข้าไปเยอะแยะมาก แล้วอาหารมันไปเก็บอยู่ที่ตรงส่วนไหนของร่างกาย เรื่องแบบนี้ วิทยาศาสตร์ไม่น่าอธิบายได้!?
ที่มาของเรื่อง ก็มาจากข่าวนี้ครับ คือคุณ Jai Wei Ku อินฟลูเอนเซอร์สาวไต้หวัน ได้มาทำคอนเทนต์ “กินจุ” ในบ้านเรา ด้วยการสวมชุดนักเรียนไทย กินข้าวมันไก่ไจแอนท์ (ข้าว 2 กิโลกรัม และไก่ 1 กิโลกรัม) หมดเกลี้ยงโดยใช้เวลาเพียง 35 นาที … จากนั้น ล่าสุด เธอไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ นั่งกินคนเดียวหมดไป 61 ชาม แถมกินขนมถ้วยไปอีก 24 ถ้วย!!
กิจกรรมฟาดเรียบหมดโต๊ะ แบบที่สาวไต้หวันท่านนี้ทำ ก็จะเหมือนกับ “การแข่งกินจุ” ที่เราเคยเห็นข่าวกันบ่อยๆ โดยถ้าเป็นการแข่งกินจุ นอกจากจะต้องกินอาหารเป็นจำนวนมากแล้ว ยังต้องใช้เวลาให้เร็วที่สุดด้วย ซึ่งบางที ผู้ชนะระดับมืออาชีพนั้น ใช้เวลาไปแค่ 10 นาที ก็หมดโต๊ะกันแล้ว ขณะที่ผู้ร่วมแข่งขันคนอื่นต้องใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมง
ในการแข่งกินจุ มักจะมีกฎว่าผู้แข่งขันจะต้องกินอาหารให้หมด โดยไม่ทิ้งเศษอาหารไว้ต่อหน้า ถ้ามีเศษอาหารเหลืออยู่ ก็จะถูกนำมาหักออกจากปริมาณอาหารที่กินเข้าไป … ขณะที่ ผู้แข่งขันยังถูกห้ามไม่ให้สำรอก อาเจียน อาหารที่กินเข้าไปแล้ว ออกมาด้วย ถ้าทำ จะถือว่าแพ้ทันที … ที่มักอนุญาตให้เอาทำได้ คือการให้เอาอาหารนั้นจุ่มในน้ำหรือเครื่องดื่ม เพื่อช่วยให้นิ่มขึ้น เคี้ยวและกลืนได้ง่ายขึ้น
การแข่งขันกินจุที่โด่งดังที่สุดงานหนึ่ง คืองาน Nathan’s Hot Dog Eating Contest ซึ่งเป็นการแข่งกินฮอตดอก (กินทั้งขนมปัง และไส้กรอก) ให้ได้มากที่สุดในเวลา 10 นาที โดยมีแชมเปี้ยนชายคือ Joey Chestnut ชาวอเมริกา อายุ 39 ปี ซึ่งเคยชนะเวทีนี้ไปแล้วถึง 15 ครั้ง และทำสถิติโลกไว้ที่ฮอตดอก 76 อัน ส่วนอันดับสองคือ Takeru Kobayashi ชาวญี่ปุ่น อายุ 45 ปี ซึ่งเคยชนะ 6 ครั้ง
ที่น่าสนใจคือ ทั้ง Joey Chestnut และ Takeru Kobayashi รวมไปถึงนักแข่งกินจุระดับมืออาชีพหลายๆ คน ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีรูปร่างอ้วนท้วมแบบที่เราคาดกัน แต่รูปร่างออกจะสันทัด หรือบางคนดูผอมกว่าปรกติด้วยซ้ำ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? พวกเขาทำได้อย่างไร?
รายการ Sport Science ของช่องทีวีกีฬา ESPN เคยมีตอนหนึ่ง คือ The Science Behind Competitive Eating วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการแข่งกินจุ (https://www.youtube.com/watch?v=D9DZmoRY0H4) ที่หาทางอธิบายว่าเหล่านักแข่งกินจุนั้น กินอาหารเข้าไปได้อย่างไรตั้งมากมาย ด้วยการเอาหุ่นจำลองของคน ที่แสดงให้เห็นกระเพาะอาหาร มายัดอาหารลงไป (คือฮอตดอกจำนวน 69 อัน พร้อมน้ำดื่มประมาณ 2 ลิตร ตามผลการแข่งขันล่าสุด ปี 2022 ของ Joey Chestnut)
ทางรายการอธิบายว่า ปกติแล้วกระเพาะของคนเรา จะจุอาหารได้ประมาณ 1 ลิตร แล้วจะเกิด nausea reflex กลไกตอบสนองให้รู้สึกคลื่นไส้ เพื่อส่งสัญญาณให้หยุดกินได้แล้ว
แต่พวกนักกินจุมืออาชีพนั้น ได้ฝึกฝนร่างกายตนเองให้ปฏิเสธกลไกรีเฟล็กซ์ดังกล่าว แล้วสามารถกินอาหารได้ต่อไป จนสุดท้ายพวกเขาสามารถกินอาหารได้มากขึ้นกว่าปรกติถึง 4 เท่า! ทำให้กระเพาะบวมเป่งออกมา ยังกับผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ 9 เดือน (ดูในภาพประกอบ)
ดังนั้น ความสามารถในการยืดหยุ่นของกระเพาะจึงเป็นกุญแจสำคัญของชัยชนะในการแข่งกินจุ สำหรับพวกนักแข่งกินจุมืออาชีพแล้ว พวกเขาต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก เป็นเวลาหลายเดือน เพื่อให้ขนาดของกระเพาะขยายตัวได้ใหญ่โต ขณะที่ก็ต้องเคี้ยวกลืนอาหารได้อย่างรวดเร็วด้วย
ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการฝึกดื่มน้ำเป็นปริมาณมากๆๆ ในเวลาอันสั้นเพื่อให้กระเพาะขยายตัว บางคนก็ใช้วิธีกินทั้งน้ำและอาหารพวกที่มีแคลอรีต่ำ เช่น ผัก สลัด เป็นปริมาณมากๆ (ตัวอย่างเช่น อดีตนักแข่งกินจุ Ed “Cookie” Jarvis ใช้วิธีกินกะหล่ำปลีต้มทั้งลูก หลายๆ ลูก กับน้ำอีก 2 แกลลอน ทุกๆ วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนจะเข้าแข่ง) บางคนยังมีทริคพิเศษเช่นการเคี้ยวหมากฝรั่งเยอะๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับขากรรไกร
ที่สำคัญและน่าประหลาดใจคือ ผู้แข่งขันกินจุมักจะควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายให้ต่ำเอาไว้ ไม่ให้มีไขมันลงพุง ด้วยความเชื่อว่า คนที่มี “belt of fat เข็มขัดไขมัน” สะสมที่หน้าท้อง มักจะแพ้การแข่งขันกินจุ เนื่องจากไขมันใต้ผิวหนังและไขมันช่องท้องจะไปกีดขวางการขยายตัวของกระเพาะของพวกเขา เราจึงมักเห็นว่า คนที่แข่งกินจุนั้น มักจะดูหุ่นดี ไม่ลงพุง หรือออกจะผอมบางเสียด้วย!!
ปกติแล้ว ผู้ที่เข้าแข่งขันกินจุ จะมีอาการข้างเคียงตามมาไม่มากนักหลังแข่งแล้ว เช่น คลื่นไส้ กรดไหลย้อน เป็นตะคริวหน้าท้อง และท้องร่วงท้องเสีย บางคนก็ไม่สบาย จากความพยายามลดอาการแน่นท้อง ด้วยการทำให้ตัวเองอาเจียนหรือกินยาระบาย หลังแข่งจบ
แต่อย่างไรก็ตาม การ “แข่งกินจุ” กินอาหารไม่หยุดกันแบบนี้ ก็มีอันตรายต่อสุขภาพได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะ ภาวะการว่างของกระเพาะช้ากว่าปกติ (delayed gastric emptying) ซึ่งเกิดจากการสูญเสียการทำงานของระบบประสาทในทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้ก้อนอาหารไม่ถูกขับออกจากกระเพาะได้หมดในเวลาปกติ, อาจเกิดโรคปอดอักเสบ จากการสำลักอาหารหรือน้ำลาย (aspiration pneumonia), อาจเกิดภาวะ กระเพาะทะลุ (gastrointestinal perforation) ที่มีรูขึ้นตามผนังกระเพาะอาหาร ทำให้เชื้อแบคทีเรีย กรดในกระเพาะอาหาร หรือเศษอาหาร เข้าไปสัมผัสในโพรงช่องท้อง, ภาวะที่มีการฉีกขาดทะลุของหลอดอาหารส่วนล่าง (Boerhaave syndrome) และโรคอ้วน (obesity) ได้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของการฝึกดื่มน้ำเป็นปริมาณ ที่ทำให้เกิดภาวะ น้ำเป็นพิษ (water intoxication) ขึ้น เพราะน้ำไปเจือจางปริมาณของสารอิเล็กโทรไลต์ในกระแสเลือด … ภาวะการว่างของกระเพาะช้ากว่าปกติ ยังส่งผลเสียระยะยาวขึ้นได้ เช่น อาหารไม่ย่อยเรื้อรัง (chronic indigestion) คลื่นไส้ และ อาเจียน
และที่อันตรายที่สุด ก็คือการเสียชีวิตระหว่างการแข่งขันกินจุ อันเนื่องจากการสำลักอาหารที่กินเข้าไป จนไปกีดขวางทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่ออก ซึ่งพบกรณีนี้กันทุกปีในการแข่งขันเวทีต่างๆ สรุปก็คือ คุณ Jai Wei Ku อินฟลูเอนเซอร์สาวไต้หวัน ก็น่าจะผ่านการฝึกฝนตนเองให้ “กินจุ” ได้ สามารถทนต่อความรู้สึกอยากอาเจียนได้ อย่างหน้าตาเฉยและสวยมาก ขณะที่อาหารที่เธอกินนั้น จะว่าไปแล้ว ก็ยังไม่ได้มากมายนัก และสามารถกินไปได้เรื่อยๆ ไม่ได้ต้องรีบกินเป็นจำนวนมากอย่างที่นักแข่งกินจุมืออาชีพเค้ากินกัน (แต่ก็ไม่ส่งเสริมให้ใครทำตาม ถ้าไม่ฝึกฝนมาอย่างดี นะครับ)”