ข่าวภูมิภาค

ผู้ว่าฯภูเก็ต เร่งแก้ปัญหาน้ำเสียไหลลงหาดไตรตรัง นำนวัตกรรมแม่เหล็กไฟฟ้ามาใช้ ดักตะกอน ไขมันและสิ่งปฏิกูล

วันนี้ (27 ก.พ 2561)เวลา 17.30 น. นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ,นายณฐวรรณ จำลองกาศ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต , ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ ผู้อำนวย การสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 (ภูเก็ต) , นายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่า ภูมิภาคสาขาภูเก็ต,นายพิชิฎฎ์ ชิดไพฑูรย์ ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต,นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต , นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ,อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต,หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ลงพื้นที่บริเวณหาดไตรตรัง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำเสียที่ไหลลงหน้าหาดไตรตรัง

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียไหลลงทะเลบริเวณหาดไตรตรัง ที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างเร่งด่วน มีความยั่งยืน และไม่ให้ส่งผลกระทบภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยจากการลงพื้นที่บริเวณหาดไตรตรังในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 นั้นลักษณะของกลิ่นที่กระจายในพื้นที่แตกต่างกัน โดยในครั้งแรกกลิ่นมีลักษณะคล้ายกลิ่นโคลนแต่วันนี้สภาพกลิ่นเป็นกลิ่นเน่าเสียที่เกิดจากการหมักหมมของสิ่งปฏิกูล

เบื้องต้นได้ดำเนินการวางแผนที่จะหาสาเหตุต้นตอของน้ำเสียที่ไหลลงสู่หาดไตรตรัง ซึ่งจากการสันนิษฐานสาเหตุของน้ำเสียมาจากหลายปัจจัยที่มีความเป็นไปได้ อาทิ อาจจะเป็นน้ำเสียที่ไหลมาจากบริเวณคลองปากบาง หรือน้ำที่เอ่อล้นมาจากระบบบำบัดน้ำเสีย หรือน้ำจากสถานประกอบการและชุมชนที่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง ในส่วนของการคาดการณ์ว่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่เดินทางมาในพื้นที่และมีการปล่อยน้ำเสียนั้นคาดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งทุกสาเหตุจะเป็นโจทย์ที่จะต้องหาคำตอบอย่างรอบคอบ

โดยแนวทางในการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนได้ มอบหมายให้เทศบาลเมืองป่าตองเร่งจัดทำงบประมาณและขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเพื่อดำเนินการขุดลอกตะกอนที่ทับถมบริเวณคลองปากบาง พร้อมทั้งวางแผนจับตะกอนในน้ำโดยจะมีการนำนวัตกรรมสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามาใช้ในการดักจับตะกอนไขมันในพื้นที่คลองปากบางซึ่งเป็นวิธีที่ดีและเร็วที่ สุด คาดว่าหากนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาในครั้งนี้มีประสิทธิภาพก็จะนำนวัตกรรมดังกล่าวขยายผลไปใช้ในพื้นที่อื่นๆในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตต่อไป โดยขณะนี้จังหวัดได้เร่งแก้ปัญหาอย่างเร็วที่สุดซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบวันต่อวัน

สำหรับนวัตกรรมสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กในการจับแยกตะกอน น้ำมัน สิ่งปฏิกูล ในน้ำ โดยจะเป็นระบบโมบายเคลื่อนที่ที่สามารถทำงานในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงที่มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้เป็นอย่างดีและรวดเร็ว มีศักยภาพสามารถทำให้น้ำเสียกลับคืนสู่สภาพที่ดีขึ้นพร้อมทั้งสามารถนำตะกอนที่ได้จากการดักจับไปใช้ทำเป็นปุ๋ยธาตุอาหารสูงเพื่อปลูกพืชได้ด้วย ทั้งนี้ขอฝากไปยังสื่อมวลชนและประชาชนทุกภาคส่วนว่าขณะนี้จังหวัดภูเก็ตได้เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วนและจริงจัง

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเสียในระยะยาวจังหวัดภูเก็ตจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งพื้นที่ของ ตำบลกมลา ตำบลป่าตอง ฯลฯ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมแผนงานและโครงการที่จะใช้เงินสะสมที่มีประมาณ 200 ล้านบาทเชื่อมโยงการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียโดยรวมทั้งจังหวัด ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบแก้ปัญหาน้ำเสียที่หาดไตรตรัง

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและคณะได้เดินทางลงเรือโชคอารีย์ 7 ซึ่งเป็นเรือรับส่งผู้โดยสารไปติดตามการดำเนินการจัดการขยะและน้ำเสียของเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่เข้ามาจอดบริเวณหาดป่าตอง ผู้ว่าฯยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำชับในส่วนของเรือท่องเที่ยวที่มาจอดเทียบท่าในทะเลภูเก็ต จะต้องระมัดระวัง ไม่ปล่อยน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลลงสู่ท้องทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างเด็ดขาดและให้มีการบริหารจัดการขยะที่มีความเหมาะสมและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button