ข่าว

ช้างไทย กระดูกสันหลังผิดรูป หลังแบกนักท่องเที่ยวยาวนานถึง 25 ปี

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย เผยภาพช้างที่ถูกใช้แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จนกระดูกสันหลังบิดเบี้ยว จากการแบกนักท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน

กลายเป็นภาพที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่คนทั้งโลก เมื่อเว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย (Wildlife Friends Foundation Thailand) เผยแพร่ภาพช้างพลายหลิน เพศเมีย อายุ 71 ปี หลังจากทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมานาน 25 ปี ซึ่งช้างเชือกนี้ต้องแบกนักท่องเที่ยวมากกว่า 6 คนขึ้นไป ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหนักจนน่าตกใจ

พลายหลิน เป็นช้างไทยที่ถูกใช้งานให้นักท่องเที่ยวขี่มายาวนานถึง 25 ปี ผลจากการถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันยาวนานเช่นนี้ ทำให้ช้างเชือกนี้อยู่ในภาวะ “กระดูกสันหลังผิดรูป” ก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือ มาอยู่ที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า

ช้างไทย กระดูกสันหลัง
ภาพจาก : มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT)

ภาพของ พลายหลิน แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กระดูกสันหลังได้ยุบลงและจมลงไป ซึ่งโดยปกติกระดูกสันหลังของช้างจะโค้งมนและยกขึ้น นอกจากนี้พลายหลินยังมีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการถูกกดทับมาเป็นเวลานาน ด้วยเหตุเพราะต้องแบกรับนักท่องเที่ยวตลอดช่วงชีวิตการทำงาน

ไม่ใช่แค่พลายหลิน บุญช่วย ก็เป็นช้างไทยอีกตัวที่ทางมูลนิธิช่วยเหลือมา จากภาพจะเห็นว่า กระดูกสันหลังของมันก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน ภายหลังจากโดนใช้งานขี่หลังมาเป็นสิบ ๆ ปี ต้องแบกรับน้ำหนักทั้งจากควาญช้าง และกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมทั้งม้านั่งหนัก ๆ กลายเป็นแรงกดทับอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่เนื้อเยื่อและกระดูกเสื่อม แต่กระดูกสันหลังยังได้รับความเสียหายอย่างถาวร

บุญช่วย กระดูกสันหลังงอ
ภาพจาก : มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT)

“เอ็ดวิน วิก” ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งดับเบิลยูเอฟเอฟที ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า พลายลินถูกส่งตัวมาที่มูลนิธิเมื่อปี 2549 หลังทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เธอถูกส่งตัวมาโดยเจ้าของคนก่อน ซึ่งรู้สึกว่าเธอเชื่องช้าเกินไป และมักบาดเจ็บอยู่เสมอ จนไม่สามารถทำงานได้ดีอีกต่อไป

“ทอม เทย์เลอร์” ผู้อำนวยการโครงการเสริมว่า หลังของช้างไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักจำนวนมาก แรงกดดันบนหลังช้างจากนักท่องเที่ยว สามารถสร้างความเสียหายทางกายภาพอย่างถาวร

เอ็ดวิน วิก กล่าวว่า มูลนิธิแบ่งปันเรื่องราวของไพลินเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการทุณกรรมช้างและเตือนไม่ให้ผู้คนขี่ช้าง และเสริมว่าพลายหลินอายุมากแล้ว และอ้วนกว่าตอนที่มามูลนิธิครั้งแรก แต่ยังสามารถเห็นรูปกระดูกสันหลังได้อย่างชัดเจนมาก พลายหลินต้องอยู่ความผิดปกติทางกายภาพนี้ต่อไป

ทั้งนี้ พลายหลินและบุญช่วย อาศัยอยู่ในมูลนิธิร่วมกับช้างที่ได้รับความช่วยเหลืออีก 24 ตัว ใกล้กับเมืองหัวหิน ห่างจากกรุงเทพมหานคร 2 ชั่วโมงครึ่ง

เปรียบเทียบช้างไทย ช้างปกติ
ภาพจาก : มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT)

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button