ข่าว

ไขข้อสงสัย ประเทศไทยมีตัวเงินตัวทองกี่ชนิด ? หลังเกิดกระแสดัง

รู้หรือไม่ในประเทศไทยมีตัวเงินตัวทองถึง 4 ชนิด เหี้ย หรือ เหี้ยลายดอก ตะกวด ตุ๊ดตู่ และ เห่าช้าง พาไปดูลักษณะหน้าตา น้องสัตว์เลื้อยคลานเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่กำลังเป็นข่าวดัง

จากข่าวการจับกุมของตำรวจสอบสวนกลาง CIB โดย บก.ปทส. ที่เข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาที่ลักลอบซื้อขายเพื่อการค้าและมีไว้ในครอบครองซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ในพื้นที่อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวานที่ผ่านมา (1 มี.ค.2566) ก่อนที่ต่อมาจะเกิดกระแสคนแห่แชร์ข้อมูลลูกชิ้นเนื้อและหนังปลาทอดกรอบทำจากเนื้อตัวเงินตัวทองกันเป็นจำนวนมากจนล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการออกมาอธิบายพร้อมกับยืนยันข้อมูลว่า เมนูอาหารทั้ง 2 นั้น ไม่ได้มีส่วนผสมหรือผลิตมาจากเนื้อสัตว์เลื้อยคลานนี้แต่อย่างใด

ข้อมูลจาก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยแพร่ข้อมูล ตระกูลเหี้ยในไทย ระบุ เหี้ย เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถพบเห็นได้ตามริมตลิ่ง แม่น้ำ ลำคลอง หรือบึง พวกมันสามารถว่ายน้ำและปีนต้นไม้ได้ดี บางชนิดสามารถดำน้ำได้นานถึงครึ่งชั่วโมง เหี้ยจะออกหากินในช่วงเวลากลางวัน อาหารหลักๆ ได้แก่ สัตว์ปีก หนู ปลา และซากสัตว์ เป็นต้น

ตัวเงินตัวทอง กระบี่
ภาพ @Erik Karits

ตัวเงินตัวทองในไทย 4 สายพันธุ์

ตะกวด (Varanus bengalensis nebulosus หรือ Varanus nebulosus) หรือบางพื้นที่เรียกว่า แลน ลำตัวสีดำหรือน้ำตาลเข้ม บนตัวมีลายจุดสีเหลืองจางกระจายทั่วไปทั้งลำตัวและขาด้านบน ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ หากินบนพื้นดิน ตะกวดเป็นสัตว์ป่าที่นับว่าถูกล่า และถูกคุกคาม จากมนุษย์มากที่สุดจนบางพื้นที่แถบไม่เหลือให้พบเจอ ส่วนใหญ่จะพบว่าคนชอบนำตะกวดหรือแลน มาประกอบเป็นอาหารโดยไม่ทราบว่ามันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii) มีลักษณะอ้วน ป้อม เกล็ดเป็นสันแข็งขนาดใหญ่โดยเฉพาะตรงคอ ตอนเด็กตรงหัวและคอจะเป็นสีส้ม มีแถบสีดำลากตัดบริเวณหางตา ตอนโตจากสีส้มจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ใต้คอมีสีขาว ผิวหนังลำตัวมีสีเทาอมน้ำตาล พบได้ตามภาคใต้และภาคตะวันตกในไทย มีนิสัยรักสงบ และเชื่องช้า

เห่าช้าง (Varanus rudicollis) มีขนาดเล็กกว่าเหี้ย ผิวสีดำเข้ม มีลายขวางจาง ๆ ที่ลำตัว เกล็ดบนคอมีลักษณะเป็นแหลม ๆ คล้ายหนามทุเรียน เห่าช้างเป็นสัตว์ที่ขี้อายและขี้กลัว มีความว่องไว และดุร้ายกว่าเหี้ยชนิดอื่นเมื่อเจอศัตรูจะขู่เสียงฟ่อ ๆ เหมือนงูเห่าแต่ไม่ได้เป็นสัตว์มีพิษ

เหี้ย (Varanus salvator) หรือบางคนเรียกว่า “ตัวเงินตัวทอง” ในตระกูลนี้พวกมันถือว่ามีขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดและพบเจอได้ง่ายที่สุดโดยจะชอบอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ป่าดิบชื้น และป่าชายเลน เป็นต้น

ลำตัวของมันจะอ้วนยาว ขาสั้นแต่แข็งแรง นิ้วมีกรงเล็บแหลมคม หางช่วยในการทรงตัวตอนวิ่งและว่ายน้ำ ผิวหนังหยาบ มีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมทั่วลำตัว ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย นิสัยรักสันโดษ ปีนต้นไม้ และว่ายน้ำเก่ง จะดุร้ายเมื่อเจอคุกคามจากศัตรู

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ว่า ตัวเงินตัวทอง หรือตัวเหี้ย เป็นสัตว์คุ้มครองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ในตระกูลเหี้ย ห้ามซื้อ ขาย หรือครอบครอง สัตว์ตระกูลดังกล่าว หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากเจอตัวเงินตัวทอง เข้ามาในบริเวณที่พักอาศัย บริเวณที่เลี้ยงสัตว์ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อจับน้องไปดูแล หรือปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ อย่าทำร้าย หรือฆ่าน้อง เพราะอาจได้รับโทษตามกฎหมายได้.

ข่าวตัวเงินตัวทอง
ภาพ @ตำรวจสอบสวนกลาง

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button