ข่าวภูมิภาค

พิสูจน์หลักฐานลงตรวจสอบเรือสปีดโบ๊ทเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง คาด 3-4 วันจะทราบผล

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้(17ม.ค.)ที่ท่าเทียบเรือโบ๊ทลากูน ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ตเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัดภูเก็ตพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าที่ภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ต ได้เข้าตรวจสอบและเก็บหลักฐานอย่างละเอียดเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของบนเรือ สตกมล 333 และเรือพิมพ์รชา 5 เพื่อเก็บรายละเอียดนำไปวิเคราะห์ หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 วัน จึงจะทราบผล นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าที่ภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต ได้ตรวจสอบโครงสร้างตัวเรือว่า ถูกต้องตามประเภทของการได้รับอนุญาตหรือไม่ รวมถึงโครงสร้างตัวเรือด้วย

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในเรื่องการตรวจสอบเรือต่างๆ ที่จะออกจากท่าเทียบเรือภูเก็ตนั้น ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการในการตอกย้ำและทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้ ซึ่งสำหรับเหตุการณ์เรือสปีดโบ๊ทชนกันนั้นเกิดจากความประมาทของคนขับเรือ

“ได้สั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบไปแล้วสำหรับเรื่องเรือนั้นจะต้องมีการตรวจสอบสภาพก่อนที่จะมีการปล่อยเรือออกจากท่าฯ จะต้องมีการเช็คลิส และทุกอย่างต้องพร้อมทั้งหมด เนื่องจากท่าเทียบเรือสาธารณะเรามีไม่เพียงพอ จึงทำให้มีท่าเรือของเอกชนกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในแต่ละอ่าวจะต้องมีจุดเช็คพอยท์ ซึ่งเรือทุกลำที่นำนักท่องเที่ยวออกไป จะต้องมีรายชื่อของนักท่องเที่ยวทุกคนและสัญชาติอะไร ซึ่งได้ย้ำมาตั้งแต่ 8 เดือนที่แล้ว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุก็จะทำให้ทราบได้ทันที ส่วนท่าเทียบเรือสาธารณะนั้นก็ได้ให้มีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีที่สามารถจับใบหน้าของผู้ขึ้นลงเรือ เพราะหากเรามีข้อมูลที่ชัดเจนเมื่อเกิดเหตุขึ้นการช่วยเหลือต่างๆ ก็จะทำได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และจะไม่มีความสับสน เช่น กรณีเหตุที่เกิดขึ้นที่จ.กระบี่ก็จะมีข้อขัดแย้งในเรื่องจำนวนกันอยู่ ทั้งก่อนถึงช่วงตรุษจีนก็จะได้มีการตรวจสอบความพร้อมและเน้นย้ำกันอีกครั้งรวมทั้งจะมีการประสานกับทาง จ.กระบี่ ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน โดยเมื่อมีเรือออกจากภูเก็ตก็จะต้องมีการส่งข้อมูลไปให้ทาง จ.กระบี่ทราบด้วย เมื่อเกิดเหตุขึ้นก็จะได้ทราบทันทีว่ามีเรือเข้ามา”

นายนรภัทร กล่าวต่ออีกว่า จากเหตุการณ์ล่าสุดซึ่งพบว่าเกิดจากความประมาท ซึ่งได้เน้นย้ำไปกับเจ้าหน้าที่การท่าฯ แล้วว่า ก่อนที่จะปล่อยเรือออกไปนั้นทุกอย่างต้องมีการตรวจความพร้อมทั้งตัวเรือ กัปตันและพนักงานประจำเรือซึ่งจะต้องมีบัตรตรงกับผู้ปฏิบัติงานจริง และจะตรวจแบบฉาบฉวยไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นอำนาจของเจ้าท่าฯ ที่จะต้องมีการบังคับให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการ กอ.รมน.ซึ่งได้มีการใช้อำนาจในทางปฏิบัติที่ได้รับมอบเพราะหลายส่วนราชการไม่ได้อยู่ในการกำกับของผู้ว่าฯ แต่อยู่ภายใต้การกำกับของราชการส่วนกลาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button