จับตา 3 ผลกระทบสำคัญ หลังพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภา
เปิด ผลกระทบจากการยุบสภา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาก่อนครบวาระเพียงไม่กี่วัน การเลือกตั้งครั้งใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ชะตาการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง
เริ่มนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจประกาศยุบสภาฯ ก่อนครบวาระเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนต่างสงสัย คือ การประกาศยุบสภามีข้อดีอะไร ในเมื่ออีกไม่นานรัฐบาลก็ครบวาระเพียงไม่กี่วัน วันนี้ The Thaiger จะมาคลายข้อสงสัยว่าการยุบสภาส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย
ผลกระทบหลังพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภา
การยุบสภา หรือที่เรียกเต็ม ๆ ว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎร คือการทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพร้อมกันก่อนครบวาระ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการยุบสภาของพลเอกประยุทธ์ นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีการยุบสภาเป็นครั้งที่ 15 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการยุบสภาก่อนครบอายุวาระ ทำให้เกิดคำถามค้างคาใจกันอย่างมากมายว่า ทำไมนายกจึงตัดสินใจเช่นนี้ทั้งที่อีกไม่กี่วันก็จะครบวาระ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลกระทบต่อการเมืองไทย ดังนี้
ยืดระยะเวลากำหนดวันเลือกตั้ง
หากไม่มีการยุบสภา และให้สภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 102 กำหนดไว้ว่า “เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุด” นั่นหมายความว่าจะต้องมีการเลื่อกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566
แต่เมื่อมีการยุบสภาเกิดขึ้น ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 103 กำหนดว่า “เมื่อมีพระราชกฤษฎีให้ยุบสภาฯ ให้กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษาภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ โดยกรอบระยะเวลาในการกำหนดวันเลือกตั้งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ”
แน่นอนว่าการที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาก่อนวันครบวาระเพียงไม่กี่วัน ถือเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่พรรครวมไทยสร้างชาติ อันเนื่องมาจากการยุบสภาสามารถยืดระยะเวลากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้นานขึ้น โดยสามารถกำหนดได้ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
เพิ่มโอกาสให้ ส.ส. ย้ายพรรค
คุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของผู้ลงสมัคร ส.ส. คือการสังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะหากไม่มีพรรตการเมืองก็ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ โดยรัฐธรรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ว่า
“มาตรา 97 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร… (3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน”
นั่นหมายความว่า หากไม่มีการยุบสภา ส.ส. จะต้องย้ายพรรคก่อน 90 วัน หากช้ากว่านั้นก็จะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่หากมีการยุบสภาระยะเวลานี้จะลดลงเหลือเพียงแค่ 30 วันเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้มี ส.ส. เข้ามาสังกัดพรรคของตัวเองได้มากขึ้น
ลดระยะเวลาการหาเสียง
ตามมาตราที่ 68 ของกฎหมายเลือกตั้ง มีการวางกรอบระยะเวลาไว้คร่าว ๆ ว่าช่วงเวลาใดบ้างที่ถือเป็น “ฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง” ซึ่งกำหนดให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ รวมทั้งข้อจำกัดทางการเงิน ซึ่งกรอบระยะเวลาการหาเสียงจะเริ่มนับและมีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน
กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ เริ่มนับตั้งแต่ 180 วันก่อนครบวาระสภา จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง หากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่จะหมดวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 กกต. ประกาศให้เริ่มนับช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565
หากมีการยุบสภา กรอบระยะเวลาจะเริ่มนับวันแรก คือ ตั้งแต่วันที่ยุบสภา เป็นกรณียกเว้นที่ทำให้กรอบ 180 วันของการหาเสียงล่วงหน้าไม่มีผล ดังนั้น สำหรับนักการเมืองผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว หากมีการยุบสภาก็จะได้รับประโยชน์มากกว่า เพราะกรอบเวลาที่อยู่ภายใต้การกำกับหาเสียงนั้นสั้นลง
จากผลกระทบทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถสรุปได้ว่า การตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม ถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่สามารถช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายบริหารได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการยืดวันเลือกตั้งครั้งสำคัญที่กำลังมาถึง การเพิ่มโอกาสให้ ส.ส. เข้ามาสังกัดพรรคของตน รวมทั้งลดระยะเวลาในการหาเสียงอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : 1