ข่าวข่าวการเมือง

เปิดไทม์ไลน์ยุบสภา 66 ประยุทธ์คอนเฟิร์มแล้ว เลือกตั้งวันไหน การเมืองไทยทำไงต่อ

ไทม์ไลน์ยุบสภา 2566 หลัง ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีประกาศวันยุบสภา ภายในเดือนมีนาคม 2566 ส่วนกำหนดวันเลือกตั้ง ยึดตาม กกต. แจ้งไว้วันที่ 7 พฤษภาคมนี้

ในระบอบประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา สำหรับประเทศไทยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เครื่องมือทางการเมืองที่ใช้เพื่อระงับความขัดแย้ง และกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถที่จะเดินหน้าทำงานต่อไปได้คือ “การยุบสภา”

ล่าสุด ข่าวยุบสภา ก็มีความชัดเจนขึ้น ภายหลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมากล่าวหลังการประชุมคฅณะรัฐมนตรีในวันนี้ (21 ก.พ.66) โดยระบุ ได้มีการแจ้งที่ประชุมไปแล้วถึงกำหนดการ “ยุบสภา” ซึ่งจะเป็นภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนกำหนดวันเลือกตั้งในปัจจุบันให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศไว้ คือ วันที่ 7 พ.ค.2566

ทั้งนี้ แม้หลายคนจะได้ยินคำว่า ยุบสภากันมาบ่อยครั้ง แต่เชื่อว่าลึกๆ ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจว่า หลังจากประกาศไปแล้ว กลไกการเมืองไทยจะดำเนินการและมีหน้าตารูปแบบเป็นอย่างไร ซึ่งในโอกาสนี้จะขอพาทุกท่านย้อนไปตรวจสอบทิศทางต่อจากนี้ ถึงสถานการณ์ของรัฐสภาไทย ในกรณีที่หากเกิดการทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยสิ้นสุดลง โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งปวงพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ

ประยุทธ์
ภาพ : เว็บไซต์รัฐบาลไทย

ทิศทางการเมืองไทย พาเปิดไทม์ไลน์ยุบสภา แล้วเลือกตั้ง 2566 วันไหน ทัน 7 พฤษภาคมหรือไม่

ก่อนที่จะไปแจกแจง กระบวนการและขั้นตอนหลังจากประกาศยุบสภาเป็นอย่างไร เริ่มแรกต้องไปดูที่วันครบกำหนดวาระของ ส.ส. เสียก่อน

โดยในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2566 จะเป็นวันครบวาระ 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากอยู่ครบวาระดังกล่าว การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องดำเนินการภายในกรอบเวลา 45 วันนับแต่วันครบอายุของสภา (มาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญ 2560) และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 97 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560)

ส่วนการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงให้นับตั้งแต่ 180 วันก่อนวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งไปจนถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 64 (1) พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561)

แต่หากเป็นกรณียุบสภา การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีการยุบสภา (มาตรา 103 วรรคสาม รัฐธรรมนูญ 2560)

ส่วนการมีคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองสำหรับผู้ต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ลดระยะเวลาจากไม่น้อยกว่า 90 วัน เหลือเพียง 30 วัน ขณะที่การคำนวณค่าใช้จ่ายการหาเสียงให้เริ่มนับจากวันที่ยุบสภาไปจนถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 64 (2) พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561)

มาถึงตรงนี้ หากนำข้อมูลล่าสุดที่พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมจะยุบสภาที่หากมีขึ้นก็จะชัดเจนตามที่นายกฯ กล่าวไว้ คือ ในกรอบเดือน มี.ค.66 นั่นเอง

ดังนั้นจากข้อมูลทั้งหมด การยุบสภา จึงเป็นวิธีการที่สร้างความยืดหยุ่นในเชิงการบังคับใช้กฎหมายแก่พรรคการเมืองได้ดีกว่ากรณีสภาอยู่ครบวาระ โดยนักการเมืองสามารถถ่ายเทย้ายสังกัดพรรคได้อย่างอิสระเมื่อมีการยุบสภา

ประกาศยุบสภา
ภาพ @media.thaigov.go.th

ผลทางกฎหมายที่เกิดจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สถาบันพระปกเกล้า

  • ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่งทันที

เนื่องจากเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพร้อมกัน และต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้ ส่วนสมาชิกวุฒิสภายังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่บัญญัติให้สมาชิกภาพของวุฒิสภาต้องสิ้นสุดลงเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

  • ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง

เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไว้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปแล้ว คณะรัฐมนตรีก็อยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ แต่คณะรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550มาตรา 181 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ โดยคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังต่อไปนี้

  1. ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
  2. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
  3. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
  4. ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด
  • ร่างพระราชบัญญัติที่ค้างการพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หรือค้างการพิจารณาในวุฒิสภาเป็นอันตกไป

สำหรับร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา รัฐสภา ได้แก่ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเสียแล้วก็ไม่มีรัฐสภาที่จะให้คำแนะนำและยินยอม ร่างพระราชบัญญัติที่ค้างการพิจารณาที่มาจากการริเริ่มเสนอของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ก็ต้องตกไปด้วย เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน แต่ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่มีอันตกไป อาจนำกลับเข้ามาพิจารณาต่อเนื่องในสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ได้อีกตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 153 บัญญัติว่า “ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายในหกสิบวัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป”

ระยะเวลาที่มีผลทางกฎหมาย

ประยุทธ์ ประวิตร
ภาพ เว็บไซต์รัฐบาลไทย

โดยทั่วไป วันที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรกับวันที่ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมักเป็นวันเดียวกัน แต่หากเป็นคนละวันกันตามกฎหมายจะถือว่ามีการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามวันที่ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา เพราะการยุบสภาผู้แทนราษฎรจะมีผลทางกฎหมายต้องนับแต่วันที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรในราชกิจจานุเบกษา.

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทย ประกาศยุบสภามาแล้วทั้งหมดกี่ครั้ง ?

ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ระบบรัฐสภาไทยมีการยุบสภามาแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง. หนสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ในยุคสมัยของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button