ไลฟ์สไตล์

2 กุมภาพันธ์ ‘วันนักประดิษฐ์’ เทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9

วันนักประดิษฐ์ (Thailand Inventors’ Day) ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ถือเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งในเดือนนี้ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย เพราะพระองค์ทรงพระราชทานสิ่งประดิษฐ์ กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียให้แก่ประชาชนชาวไทย นับว่าเป็นการจุดประกายไอเดียในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ของคนไทยเป็นต้นมา วันนี้ทีมงาน The Thaiger ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับวันนักประดิษฐ์มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน จะมีเรื่องไหนน่าสนใจบ้าง ถ้าพร้อมแล้วเข้ามาอ่านในนี้กันได้เลย

จุดเริ่มต้นวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์

ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมในขณะนั้น เป็นผลมาจากภาวะมลพิษของน้ำเน่าเสียที่มีปริมาณสูงขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเน่าเสียในพื้นที่หลายแห่ง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาน้ำเสีย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ปัญหาน้ำเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศ โดยพระราชทานรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำเสีย เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”

กระทั่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไชย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรและเป็นครั้งแรกที่ได้รับการจดทะเบียน เรียกได้ว่า พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์คนแรกของโลกที่ได้รับการจดสิทธิบัตร

ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นผลให้ คณะรัฐมนตรีได้มีบัญชามอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานกลางในการจัดงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ในฐานะ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และได้กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุก ๆ ปี คือ วันนักประดิษฐ์

วันนักประดิษฐ์
ภาพจาก : มูลนิธิชัยพัฒนา

กิจกรรม “งานวันนักประดิษฐ์” จัดครั้งแรกเมื่อไหร่

ในปี 2538 นายกรัฐมนตรีมีบัญชามอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ขึ้น เพื่อส่งเสริมการคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ รวมถึงเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9

การจัดงานครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ส่งเสริมและสนับสนุนการประดิษฐ์ของนักคิดค้นทุกระดับ ตั้งแต่ นักเรียน เยาวชน ไปจนถึงบุคคลทั่วไป การจัดงานนักประดิษฐ์วันแรก คือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2538 ณ ศูนย์การค้าเวิร์ลเทรดเซนเตอร์

วันนักประดิษฐ์ เป็นวันอะไร
ภาพจาก : กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและวัฒนธรรม

กิจกรรมวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566

งานวันนักประดิษฐ์ ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ สร้างความภาคภูมิใจให้กับนักประดิษฐ์ทุกภาคส่วน อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักประดิษฐ์ด้วยกัน และการจัดงานยังช่วยให้ประชาชนที่สนใจ สามารถเข้ามาร่วมชม พูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักประดิษฐ์หรือเข้าร่วมงานสัมมนา เพื่อนำไอเดียและแรงบันดาลใจต่าง ๆ ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ หรือสิ่งที่สนใจได้มากขึ้น

สำหรับวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 จะจัดขึ้นในวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ ณ ฮอล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงานวันนักประดิษฐ์ขึ้น เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของสิ่งประดิษฐ์ไทย ทำให้วันนักประดิษฐ์ เป็นเวทีสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม”

ซึ่งกิจกรรมในงานจะมีทั้งพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ การจัดนิทรรศการเพื่อเทิดทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อแสดงผลงานการวิจัยแห่งชาติ ผลงานจากเวทีนานาชาติ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมถึงมีการเสวนาและฝึกอบรมกว่า 60 เรื่อง เป็นต้น

งานวันนักประดิษฐ์ ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์
ภาพจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ขอบคุณข้อมูลจาก 1 2

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button