ข่าวฟุตบอลโลก

เพจสรยุทธ โพสต์ปมถ่ายบอลโลก ซื้อแพงก็ควรได้ดูคุณภาพดีหรือไม่

เพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว เคลื่อนไหวปมดราม่า แบ่งคู่ถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ล่าสุดเพจผู้ประกาศข่าวคนดัง ขอพูดในฐานะประชาชนคนดูบอล ซื้อแพงขนาดนี้ ก็ควรได้ดูคุณภาพดีๆ หรือว่าไงครับ

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว มีการโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ โดยหลังจากมีประเด็นปัญหาการแบ่งช่องถ่ายทอดสดของมหกรรมลูกหนังระดับโลกขึ้น ล่าสุดเพจของผู้ประกาศข่าวดังก็ออกมาโพสต์ให้ความเห็น โดยระบุ ดังนี้

“ซื้อแพงขนาดนี้ ก็ควรได้ดูคุณภาพดีๆ หรือว่าไงครับ … ในฐานะประชาชนคนดูบอล เมื่อ กสทช.อนุมัติเงินกองทุน 600 ล้านให้การกีฬาฯ ซื้อลิขสิทธิ์ ‘บอลโลก 2020’ ก็น่าจะหาทางเจรจาให้ประชาชนได้รับชมการถ่ายทอด ‘ทุกนัด’ ด้วยคุณภาพระดับ HD (High Definition:ความคมชัดสูง)”

“การที่ ‘ทรูช่อง 24’ ได้สิทธิถ่ายทอดสด 32 คู่ เป็นช่อง SD (Standard Definition) ซึ่งการได้สิทธิถ่ายทอดสดแบบ Exclusive ช่องเดียว ก็เท่ากับคนทั่วไป จะได้ดูถ่ายทอดในคุณภาพความคมชัดระดับ SD เท่านั้น เช่นเดียวกับคู่ที่ช่อง SD อื่นๆ ได้ถ่ายทอดช่องละ 2 นัด ”

“ถ้าเกรงเป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งกับ ‘ทรู’ สปอนเซอร์ใหญ่ ก็ให้ถ่ายสดคู่ขนานกับช่อง HD ของรัฐก็ได้ ทั้ง NBT , ททบ.5 หรือ ไทยพีบีเอส (ซึ่งกำลังจะทดลองระบบ 4K พอดี)
ส่วนกรณี TrueVisions ได้ถ่ายทอดทุกคู่ในระบบ HD (หรืออาจจะมี 4K ด้วย) อันนี้คนเป็นสมาชิกอยู่แล้วก็ดูได้ โดยไม่เสียเงินเพิ่ม แต่คนไม่ได้เป็นสมาชิกล่ะ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องดู SD คงไม่มีใครบอกนะครับว่า มีให้ดูฟรี ยังไงก็ดูไปเถอะ”

เพจสรยุทธ ถ่ายบอลโลก
ภาพ Facebook สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

ทั้งนี้ หลังจากโพสต์แสดงความเห็นดังกล่าวไม่นาน ทางเพจก็มีการลงโพสต์ข้อมูลเปิดรายชื่อภาคเอกชน 9 ราย ร่วมลงขัน 700 ล้านบาท สมทบ กสทช. ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก กาตาร์ 2022 โดยมีเนื้อหาว่า

หลังประเทศไทยบรรลุผลเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่าง 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565 กับเอเย่นต์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ วงเงิน 33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งถ้ารวมค่าใช้จ่ายภาษี ยอดรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท

สำหรับผู้สนับสนุนงบประมาณในการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ ประกอบด้วย

  1. กสทช. มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ’ (กองทุน กทปส.) 600 ล้านบาท
  2. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) 300 ล้านบาท
  3. น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง (บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน)) 100 ล้านบาท
  4. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท
  5. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ 20 ล้านบาท
  6. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 20 ล้านบาท
  7. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 10 ล้านบาท
  8. บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท
  9. ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท
  10. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท

บอลโลก 2022
ภาพ @fifaworldcup

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button