ข่าวไลฟ์สไตล์

วิธีดูจันทรุปราคา ‘วันลอยกระทง’ 8 พฤศจิกายน 2565 เช็กเวลาชมคราสที่นี่

วิธีดูจันทรุปราคาในวันลอยกระทง 8 พฤศจิกายน 2565 เช็กพิกัดและช่วงเวลาในการรับชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาคราสเต็มดวงในวันลอยกระทง สามารถมองเห็นจันทรุปราคาได้ตั้งแต่กี่โมง พร้อมแนะนำจันทรุปราคาประเภทต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แนะนำวิธีดูจันทรุปราคาในวันลอยกระทง 8 พฤศจิกายน 2565 เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ทั้งดวงโคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกจนเกิดเป็นดวงจันทร์สีแดงอิฐ ความเชื่อของคนไทยโบราณมักเรียกการเกิดจันทรุปราคานี้ว่า “ราหูอมจันทร์” โดยปรากฎการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่เวลา 15.02-20.56 น. สามารถรับชมได้ด้วยตาเปล่า ในส่วนของการดูจันทรุปราคาในประเทศไทยจะเริ่มมองเห็นคราสเต็มดวงได้ทางทิศตะวันออกเวลา 17.44-18.41 น. รวมระยะเวลา 57 นาที

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสังเกตุการเกิดจันทรุปราคาในวันลอยกระทงได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้ โดยมีกำหนดการเริ่มปรากฏการณ์จันทรุปราคาดังนี้

วิธีรับชมจันทรุปราคาเต็มดวงในวันลอยกระทง

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.02 น. (บริเวณอื่น ๆ) ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก พร้อมกับเคลื่อนตัวเข้าสู่เงามืดของโลก ทำให้เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 16.09 น. และจะกลายเป็นจันทรุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่เวลา 17.16-18.41 น.

สำหรับวิธีการดูจันทรุปราคาบริเวณพื้นที่ประเทศไทย ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ตรงกับคืนวันลอยกระทงของปีนี้ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ประเทศไทยจะเริ่มสังเกตการณ์ได้เมื่อดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลาประมาณ 17:44 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) ซึ่งเป็นช่วงคราสเต็มดวงพอดี

16:09 น. จันทรุปราคาบางส่วน
17:16 น. จันทรุปราคาเต็มดวง
17:59 น. วงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด
18:41 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง
19:49 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน

บริเวณประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17:44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ แต่จะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี

การชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:44 น. เป็นต้นไป ช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที

สุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์ครับ

จันทรุปราคาประเภทต่าง ๆ

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคา หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Lunar Eclipses เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ

ทั้งนี้ เงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “เงามัว (Penumbra Shadow)” เป็นเงาส่วนนอกสุด เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และ “เงามืด (Umbra Shadow)” เป็นเงาที่มืดสนิท ทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง ส่งผลให้มีจันทรุ 3 ประเภท ดังนี้

1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse)

จันทรุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

จันทรุปราคาวันลอยกระทง เต็มดวง
ภาพจาก : NARIT

2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse)

จันทรุปราคาบางส่วน ก็คือการที่ดวงจันทร์โคจรไปหาเงามืดของโลกเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่งผลให้มองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง

จันทรุปราคาวันลอยกระทง บางส่วน
ภาพจาก : NARIT

3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse)

จันทรุปราคาเงามัวเป็นประเภทของจันทรุปราคาแบบสุดท้าย เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด เรายังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลงครับ

จันทรุปราคาวันลอยกระทง เงามัว
ภาพจาก : NARIT

อ้างอิง : 1 2

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button