ข่าวข่าวการเมือง

รวดเร็ว! ราชกิจจาไฟเขียว ต้มเหล้าดื่มเอง มีผล 2 พ.ย.

ราชกิจจาไฟเขียว กฎกระทรวงการผลิตสุรา ต้มเหล้าดื่มเอง มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. หลังเพิ่งได้รับการเห็นชอบในการประชุม ครม. เช้านี้

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 กฎหมายที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถต้มเหล้าดื่มเองได้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 153 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยกฎกระทรวงนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตผลิตสุรา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุรารวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราทั้งการผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้าและการผลิตสุราเพื่อการค้าให้เกิดความชัดเจน อันจะทาให้การบริหารการจัดเก็บภาษี และการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสุราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 153 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน

แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตสุราชุมชนที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

2. ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนสำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมนั้น ในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี

กรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียนนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

3. เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี

อย่างไรก็ดี สถานที่ผลิตสุราต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงาน่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ…. ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงในกฎหมายลำดับรอง ที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาต และการอนุญาตผลิตสุราทั้งหมด โดยจะยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560

และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตผลิตสุรา ฉบับใหม่ เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความเหมาะสม รวมถึงปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาต รวมถึงใบอนุญาตผลิตสุรา เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดิมมีกฎหมายภาษีสรรพสามิตคุมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนที่เห็นว่ากฎหมายที่ประกาศใช่ในปัจจุบันมีความตึงเกินไป อยากให้มีการผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้น กฎหมายฉบับใหม่นี้สามารถทำให้หลายส่วนมีความสบายใจ ไม่ถึงขนาดสุดโต่งเกินไป และมีการดูแลสุขภาพของประชาชน ดูแลเรื่องอุบัติเหตุที่มาจากสุราได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ในการผลิตสุรา จะต้องมีการบำบัดน้ำเสียต่างๆ

“ดังนั้น คงไม่เป็นการเฉพาะเอื้อนายทุนอย่างแน่นอน เพราะการปรับร่างกฎกระทรวงครั้งนี้ ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เกี่ยวข้องกับประชาชน ที่จะผลิตสุราได้ง่ายขึ้น แต่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเข้ามาพิจารณาด้วย” นายอนุชากล่าว

สำหรับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ที่จะทำให้ประชาชนต้มเหล้ากินเองได้ ไม่ผิดกฎหมาย ในการประชุมครม. ของเช้าวันที่ 1 พ.ย. และ เพิ่งเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button