การเงิน

ครม. เห็นชอบ ‘ยกเลิก’ กฎหมายเช็คเด้ง

ครม. ประกาศถึงการลงมติเห็นชอบให้มีการยกเลิก กฎหมายเช็คเด้ง หากตั้งใจฉ้อโกงรับโทษอาญา หรือถ้าไม่เจตนาก็สามารถใช้ฟ้องทางแพ่งได้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 (กฎหมายเช็คเด้ง) ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการใช้เช็คในการทำธุรกรรม และกำหนดให้การใช้เช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงเป็นการกระทำความผิดทางอาญา

โดยกำหนดความผิดสำหรับการใช้เช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะที่เป็นการหลอกลวง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดหลักการให้พึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในข้อ 11 ที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้ ประกอบกับปัจจุบันระบบการชำระเงินของประเทศได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต และระบบโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว

ทางกระทรวงยุติธรรมจึงเสนอยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นางสาวรัชดากล่าวต่อว่า เมื่อมีการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 แล้ว หากเกิดกรณีที่ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่เช็คไม่สามารถขึ้นเงินได้ เช่น เงินในบัญชีของลูกหนี้ไม่เพียงพอ เจ้าหนี้สามารถฟ้องผิดสัญญาทางแพ่งเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ใช้เงินตามเช็คนั้น

แต่ถ้าลูกหนี้มีเจตนาทุจริตเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับเงิน อาจเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นได้ เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button