โรค aphasia คืออะไร สาเหตุ เกิดจากอะไร รักษายังไงได้บ้าง
aphasia คืออะไร ถือเป็นข่าวช็อกแฟน ๆ หนังแอคชันไม่น้อยเลย กับข่าวอำลาวงการของ บรูซ วิลลิส นักแสดงดังจากเรื่อง Die Hard ซึ่งออกมาแจ้งแฟนคลับถึงอาการป่วย และสาเหตุที่ทำให้เจ้าตัวต้องหันหลังให้วงการบันเทิง วันนี้ The Thaiger ก็เลยจะมาพาทุกคน ไปทำความเข้าใจด้วยกันว่า แท้จริงแล้วโรคอะเฟเซียคืออะไรกันแน่ หากพร้อมแล้ว อย่ารอช้า รีบไปเจาะลึกพร้อมกันได้เลย ?
พาไปรู้จัก โรค aphasia คืออะไร สาเหตุหลักที่ทำให้ บรูซ วิลลิส นักแสดงดัง ต้องอำลาวงการ
aphasia คือ อะไร ? สาเหตุ เกิดจากอะไร ได้บ้าง
โรค aphasia หรืออะเฟเซีย คือโรคที่ว่าด้วยภาวะบกพร่องทางการสื่อความ โดยมีอาการผิดปกติทางด้านการสื่อสาร ที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มักจะพบได้บ่อยจากกรณีเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด ความเสียหายจากการผ่าตัดสมอง หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ และกระทบกระเทือนอย่างหนัก ทำให้ผู้ที่ประสบปัญหาด้านนี้ จะขาดความสามารถในการใช้ภาษาและการสื่อสาร โดยแสดงออกในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในแง่ของการพูดคุย การอ่าน รวมถึงการเขียน
โดยทั่วไปแล้ว aphasia จะทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ สามารถแยกย่อยออกได้ทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่
- Motor or Expressive aphasia : ความบกพร่องทางการพูด
- Amnesic aphasia : ความบกพร่องทางการนึกคำพูด/ทวนซ้ำ
- Sensory or Receptive aphasia : ความบกพร่องทางความเข้าใจ
- Global aphasia : ความบกพร่องทั้งทางการพูดและการทำความเข้าใจ
ทำความเข้าใจ อาการ ภาวะของโรค aphasia
อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้าแล้วว่า โรค aphasia มีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเภท แต่ความจริงแล้ว ทั้ง 4 ประเภทนี้ ก็ยังมีรายละเอียดเรื่องอาการที่แตกต่างกันออกไปอีกหลายอย่าง โดยเราได้สรุปมาให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
- Wernicke’s Aphasia : ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้
ในภาวะนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการบกพร่อง เกิดจากการที่สมองซีกซ้ายส่วนกลางเสียหาย ทำให้ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่อีกฝ่ายกำลังพูดหรือสื่อสารได้ แต่เจ้าตัวจะยังคงมีความสามารถในการพูดได้ตามปกติ ทว่าจะใช้ภาษาไม่ค่อยถูกต้องนัก อาจมีการพูดจาทับซ้อนไปมา ไม่มีความหมาย เน้นสื่อสารด้วยประโยคยาว ๆ ที่เข้าใจได้ยาก - Broca Aphasia : ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่ไม่สามารถสื่อสารได้
ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้ เกิดจากส่วนหน้าของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย จะแสดงออกผ่านทางการสื่อสารในรูปแบบที่ เข้าใจผู้อื่นแต่ไม่สามารถสื่อสารโต้ตอบอย่างถูกต้องได้ ซึ่งจะเป็นการพูดแบบไม่จบประโยค หรือใช้ประโยคได้สั้นมาก หลงลืมคำพูด หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตในบางส่วน ร่วมกับอาการอ่อนแรง - ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Conduction
อาการนี้ จะแสดงออกผ่านการพูดตาม โดยผู้ป่วยจะไม่สามารถพูดตามได้อย่างถูกต้อง แต่จะสามารถใช้ภาษาในด้านอื่น ๆ ได้ดี ทั้งในแง่ของการพูดและการเขียน ตลอดจนมีความเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร - ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Global
ภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความเสียหาย บริเวณส่วนหน้าและส่วนกลางของสมองซีกซ้าย ทำให้มีปัญหาทั้งในแง่ของการรับสารและสื่อสารออกไป โดยผู้ป่วยจะไม่สามารถเขียนหรืออ่านข้อความได้
แนวทาง วินิจฉัย โรค Aphasia เป็นยังไง มีคำตอบ
ในส่วนของการวินิจฉัยโรคอะเฟเซีย แพทย์จะทำด้วยการตรวจการไหลเวียนของเลือด สังเกตลักษณะการกลืนอาหาร เพื่อดูลักษณะกล้ามเนื้อหน้าและคอ ทดสอบและสังเกตระบบประสาท โดยอาจมีการใช้วิธีการเอกซเรย์และตรวจด้วยเครื่อง MRI เพื่อดูระดับความรุนแรง และความเสียหายของสมอง ระบบประสาท และกล้ามเนื้อของผู้ป่วย
ทั้งยังมีการทดสอบการสื่อสาร ทั้งในแบบการสนทนา การอ่าน การเขียน การพูดตาม การมีปฏิสัมพันธ์ การโต้ตอบ การได้ยิน รวมถึงการเข้าใจและการใช้คำศัพท์ในการสื่อสารด้วย
แนวทาง การรักษา Aphasia มีอะไรบ้าง
สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยเป็นโรค Aphasia แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาเบื้องต้น ดังนี้
- ประเมินสุขภาพ ระดับความบกพร่องในการสื่อสารและทักษะสังคม
- บำบัดการพูดและภาษา
- ฟื้นฟูและส่งเสริมทักษะสื่อสาร
- จัดการบำบัดแบบกลุ่ม และครอบครัว
- ฝึกและทบทวนการใช้คำ ประโยค การพูดทวน และถามตอบ
- ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการช่วยเรื่องการเรียนรู้คำศัพท์และเสียง
- ใช้ยาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง (อยู่ระหว่างการศึกษาและทดสอบ)
ป้องกัน Aphasia ดูแลตัวเอง จากโรค ภาวะบกพร่องทางการสื่อความ
หากใครที่เกิดความกังวล กลัวว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เราก็ได้จัดลิสต์แนวทางการป้องกัน เพื่อดูแลตัวเองมาให้กันแบบคร่าว ๆ ดังนี้
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์
- งดบุหรี่
- ออกกำลังกาย
- ลดการทานโซเดียมและไขมัน
- ควบคุมความดันและไขมันในเลือด
- หมั่นตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะสมอง (หากสงสัยว่าเส้นเลือดในสมองแตก ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน)
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับการพาไปเรียนรู้เรื่องโรค aphasia คืออะไร บอกเลยว่า นี่ถือเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบ ที่น่ากลัวมาก ๆ ฉะนั้นหากใครที่สังเกตเห็นคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ ก็อย่านิ่งนอนใจ รีบพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ทำการรักษาให้ทันท่วงที ส่วนคราวหน้า The Thaiger จะมีอะไรดี ๆ มาฝากกันอีก ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ ?
อ้างอิง 1
เรื่อง : ชนกนันท์ สังข์เอียด
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล