ข่าวข่าวการเมือง

สรุปร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทุกคนพลาดอะไรไปบ้างหลังรัฐสภามีมติ’ไม่รับหลักการ’

สรุปร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลังรัฐสภามีมติ’ไม่รับหลักการ’ ประชาชนได้อะไร พลาดอะไร จากการปัดตกครั้งนี้

ภายหลังจากวันนี้ (17 พ.ย.64) ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากไม่รับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน หรือที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ‘รื้อระบอบประยุทธ์’ ซึ่งนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” แกนนำกลุ่ม Re-Solution กับประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุน 135,247 คน เสนอนั้น

โดยผลการลงคะแนนแบ่งเป็น มีผู้ออกเสียงให้รับหลักการในส่วนของ ส.ส. 203 คะแนน ส.ว. 3 คะแนน มีผู้ออกเสียงไม่รับหลักการส่วนของ ส.ส. 249 คะแนน ส.ว. 224 คะแนน มีผู้ออกเสียงงดออกเสียงเป็น ส.ส. 3 คะแนน และส.ว. 3 คะแนน

เบ็ดเสร็จ ผลร่วมของคะแนนเสียงรับหลักการมีทั้งหมด 206 คะแนน ไม่รับหลักการ 473 คะแนน งดออกเสียง 6 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมมมีมติไม่รับหลักการ เนื่องจากคะแนนรับหลักการนั้นน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด 2 สภาคือ 362 เสียงเพราะฉะนั้นมีสมาชิกรัฐสภาที่ออกเสียงรับหลักการไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และต้องมีเสียงของ ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 83 เสียงหรือ 1 ใน 3

ทั้งนี้ เพื่อให้หลายคนเข้าใจภาพของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่เพิ่งถูกรัฐสภาปัดตกไปนั้น ได้ชัดเจนมากขึ้น ว่ามีความสำคัญต่อประชาชนอย่างไร รวมถึงการที่มีมมติไม่รับหลักการนั้น ทำให้ทุกคนต้องพลาดอะไรไปบ้าง

เริ่มจากประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้เสนอแก้อะไรบ้าง ?

1. ยกเลิก ส.ว. ให้รัฐสภาไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว มีแต่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน

2. กําหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. โดยพรรคการเมืองเสนอรายชื่อพรรคละไม่เกิน 3 คน

3. ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มาจาก คสช. แล้วคัดเลือกใหม่ โดยให้ ส.ส. ลงมติในขั้นตอนสุดท้าย

4. เพิ่มอํานาจตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน เช่น เพิ่มคณะผู้ตรวจการกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระ โดยมีสมาชิก 10 คน ต้องเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านอย่างน้อย 5 คน

5. เพิ่มกลไกให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้

6. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ

7. ยกเลิกการนิรโทษกรรมตนเองของคณะรัฐประหาร 2557

*** อ้างอิงข้อมูล เพจ Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ และเว็บไซต์ iLaw

ถามว่า การเสอนแก้ไขรัฐธนนมนูญฉบับประชาชนนี้ สมมติว่า หากไม่โดนปัดตกไปเสียก่อนนั้น ข้อดีของแต่ละหลักการมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

เริ่มด้วย ข้อดีของการใช้ระบบสภาเดี่ยวที่ไม่มี ส.ว. ประเด็นแรก คือ ลดงบประมาณลง โดยข้อมูลจาก พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ‘ไอติม’ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในงานเสวนา “ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” ที่โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระบุ ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายของการมี ส.ว. ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี รวมค่าตอบแทน ค่าเดินทาง ยังไม่ได้รวมอาคารที่ต้องสร้างขึ้นมาและค่าใช้จ่ายยิบย่อย ประเด็นที่สอง คือ ระยะเวลาในการออกกฎหมายแต่ละฉบับจะสั้นลง การออกกฎหมายเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลกจะคล่องตัวมากขึ้น

ส่วนกรณี การปฏิรูปองค์กรอิสระจะทำให้องค์กรอิสระมีบทบาทอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาลจากทุกฝ่ายมากขึ้น ขณะที่ประเด็นการยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำให้ข้าราชการมีเวลาและความยืดหยุ่นมากขึ้นในการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การสร้างระบบการเมืองที่ “ไว้วางใจประชาชน”

– ระบบที่ไว้วางใจประชาชน ให้มีสิทธิเลือกผู้นำของตนเอง โดยไม่ต้องมี ส.ว. 250 คนมาร่วมเลือกด้วย

– ระบบที่ไว้วางใจประชาชน ให้เลือกนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองมานำเสนอได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องกังวลว่าเลือกไปแล้วก็ทำให้เป็นจริงไม่ได้ เพราะมียุทธศาสตร์ชาติที่ล็อกไว้แล้วล่วงหน้า 20 ปี

– ระบบที่ไว้วางใจประชาชน ให้เขาแก้ทุกวิกฤตทางการเมืองกันเองผ่านกลไกรัฐสภา โดยไม่ต้องให้ทหารเข้ามายึดอำนาจและอ้างว่าเพื่อจะมาแก้ปัญหาให้พวกเขา

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button