ข่าวภูมิภาค

กอนช. เตือน 6 จังหวัด ระวังแม่น้ำชีล้นตลิ่ง 4-15 ต.ค.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ทำการประกาศเฝ้าระวังสถานการณ์ปริมาณน้ำในพื้นที่บริเวณลุ่มต่ำริม แม่น้ำชี ในช่วงวันที่ 4-15 ตุลาคม 2564

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค. 2564) – กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังสถานการณ์ปริมาณน้ำในพื้นที่บริเวณลุ่มต่ำริม แม่น้ำชี เนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 4-15 ตุลาคม 2564 โดยมีพื้นที่ต้องทำการเฝ้าระวังภาย 6 จังหวัดด้วยกัน

เนื้อความของประกาศฉบับดังกล่าวนั้นมีด้วยกันดังนี้

ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2564 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง

จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” และแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 24 – 25 กันยายน 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชีตอนบน บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งปริมาณน้ำสูงสุดได้เดินทางมาถึงเขื่อนชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ส่งผลให้ระดับน้ำที่เขื่อนชนบทสูงกว่าตลิ่งในช่วงพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 3.50 เมตร และล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ในเขตอำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สูงเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปรวมกับแม่น้ำชี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงมากขึ้น

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีตอนกลางบริเวณอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พบว่าเขื่อนมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีระดับน้ำ +147.58 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าระดับเก็บกัก 0.78 เมตร (ระดับเก็บกัก +146.8 ม.รทก.)

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนมหาสารคาม 580 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.50 – 2 เมตร ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีในช่วงวันที่ 4 – 15 ตุลาคม 2564 ดังนี้

1. จังหวัดขอนแก่น – อำเภอเมืองขอนแก่น, อำเภอโคกโพธิ์ชัย, อำเภอมัญจาคีรี, อำเภอแวงใหญ่, อำเภอแวงน้อย, อำเภอชนบท, อำเภอบ้านไผ่, อำเภอบ้านแฮด และอำเภอพระยืน

2. จังหวัดมหาสารคาม – อำเภอโกสุมพิสัย, อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม

3. จังหวัดกาฬสินธุ์ – อำเภอฆ้องชัย, อำเภอกมลาไสย และอำเภอร่องคำ

4. จังหวัดร้อยเอ็ด – อำเภอจังหาร, อำเภอเชียงขวัญ, อำเภอธวัชบุรี, อำเภอโพธิ์ชัย, อำเภอเสลภูมิ, อำเภอทุ่งเขาหลวง, อำเภอพนมไพร และอำเภออาจสามารถ

5. จังหวัดยโสธร – อำเภอเมืองยโสธร, อำเภอคำเขื่อนแก้ว, อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอค้อวัง

6. จังหวัดศรีสะเกษ – อำเภอกันทรารมย์

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อม
ในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

2. ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ โดยพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ จัดจราจรน้ำในการสับหลีกการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

3. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

ประกาศ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564

กอนช. แม่น้ำชี

 

แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

สามารถติดตามข่าวทั่วไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไทย

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button