ข่าวข่าวอาชญากรรม

ผช.เลขาธิการแพทยสภา ตอบไม่ได้ว่า ผู้ต้องหายาเสพติดคดีผู้กำกับโจ้ เสียชีวิต เมื่อไหร่

ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ต้องหายาเสพติดคดีผู้กำกับโจ้ เสียชีวิตเมื่อใด รวมถึงชี้ว่าผลชันสูตรพลิกศพมีข้อจำกัด

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่อง MCOT HD 30 ถึงเรื่องผลชันสูตรของนายจิระพงศ์ ผู้ต้องหายาเสพติด หลังถูก พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้และพวกใช้ถุงคลุมศีรษะจนเสียชีวิต

โดย นพ.เมธี ระบุว่า ในทางการแพทย์ ทันทีที่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นในโรงพยาบาล ญาติผู้เสียชีวิตจะต้องการใบรับรองการเสียชีวิตของคนไข้ เพื่อนำไปประกอบการทำใบมรณบัตรต่อไป ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าถ้าคนไข้เสียชีวิตภายในโรงพยาบาล ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์เป็นผู้ยืนยันการเสียชีวิต ซึ่งนอกจากจะสามารถบอกรายละเอียดของผู้เสียชีวิตรวมถึงสาเหตุการเสียชีวิต ยังใช้ในการเก็บข้อมูลสถิติสาเหตุในการเสียชีวิตอีกด้วย

เพราะฉะนั้น แพทย์จะต้องกรอกว่าสาเหตุการเสียชีวิต “ทางการแพทย์” คืออะไร เช่น หัวใจล้มเหลว หยุดหายใจ หัวใจวาย แต่จะมีบางกรณีที่แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต เพราะคนไข้เสียชีวิตกะทันหันหรืออาจพึ่งถูกส่งมาโรงพยาบาลและเสียชีวิตทันที แต่ทางกฎหมายกำหนดให้ออกใบรับรองโดยด่วน เพราะต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 24 ชม. หลังเสียชีวิต แพทย์จึงจำเป็นต้องกรอกตามความเข้าใจไปก่อนในเบื้องต้น

นพ.เมธี เปิดเผยว่า หากมีการติดใจในสาเหตุการเสียชีวิตเกิดขึ้น เช่นกรณีนี้ ทางการแพทย์จะดำเนินการชันสูตรศพเป็นขั้นตอนต่อไป โดยผลชันสูตรศพที่ได้มาก็จะบอกได้ว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แพทย์ระบุไปถูกต้องหรือไม่ เพราะการชันสูตรเป็นการนำเนื้อของศพไปตรวจในห้องปฏิบัติการ กรณีใดที่เสียชีวิตและมีเหตุสงสัยสามารถยื่นเรื่องขอชันสูตรได้ ใบผลชันสูตรศพจึงเป็นใบสำคัญที่สุดในกรณีที่เกิดปัญหา

ต่อคำถามที่ว่า เป็นข้อบังคับหรือไม่ที่จะต้องทำการชันสูตรศพทุกกรณี นพ.เมธี ตอบว่า ไม่ เพราะมีคนตายทุกวันทั่วประเทศ แพทย์รับมือไม่ได้ อีกทั้งแพทย์นิติเวชมีน้อยมากเพราะไม่มีใครอยากเรียน ฉะนั้นกฎหมายจึงระบุไว้ว่าการเสียชีวิตมีอยู่ 5 ประเภท ที่บังคับให้ชันสูตรศพ คือ ฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย ถูกสัตว์ทำร้ายให้ตาย ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ และตายขณะอยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน

“อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางฝ่ายกฎหมายบ้านเมืองจะตีความว่าตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือไม่ ผมไม่กล้าออกความเห็น ทุกอย่างมีผลกับรูปคดี” นพ.เมธี กล่าว

นพ.เมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ที่จริงแล้วแยกออกมาเป็นอีกหมวดโดยเฉพาะ และมีอีกกรณีที่คนไข้รักษาอยู่ในโรงพยาบาลแต่เกิดเสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งแพทย์ไม่ทราบว่าเสียชีวิตจากสาเหตุใด แพทย์จึงจะขออนุญาตชันสูตรศพ หรือบางทีญาติเป็นผู้ร้องขอเอง จึงสรุปได้ว่าถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าเสียชีวิตจากสาเหตุใด ก็ขอให้ชันสูตรศพได้

ต่อคำถามที่ว่า การชันสูตรศพ ต้องทำภายในกี่วันหลังเสียชีวิต นพ.เมธี เผยว่า การชันสูตรจะทำหลังฉีดยา แต่ถ้ามีข้อสงสัยก็จะมีการเจาะเลือด เก็บสารคัดหลั่ง เพื่อนำไปตรวจสารพิษก่อน และขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่าเนื้อเยื่อซึ่งก็คือการผ่าศพ ตามหลักการแล้วยิ่งทำเร็วก็ยิ่งดี แต่ในทางปฏิบัติ แพทย์ที่จะชันสูตรศพคือนิติเวช ซึ่งมีน้อยมากและหลายจังหวัดไม่มี โดยสรุประยะเวลาแล้วแต่คดี แต่ในคดีนี้ถ้ายังมีศพอยู่ การชันสูตรจะถูกเร่งรัดให้ทำเร็วขึ้น

แต่เท่าที่ทราบส่วนใหญ่ที่มีปัญหาจริง ๆ คือมีการฌาปณกิจศพไปแล้ว หรือมีบางกรณีซึ่งสังคมอาจไม่ทันนึกถึงคือ ศาสนาอิสลาม เพราะทางศาสนาบังคับว่าหลังเสียชีวิต ต้องฝังศพภายใน 24 ชม. ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่แพทย์ลำบากใจ เพราะแพทย์เองบางทีสงสัยก็ต้องรีบกรอกสาเหตุเสียชีวิต หรือมีญาติสงสัยทีหลัง แพทย์ก็จะตกที่นั่งลำบาก จึงไม่กล่าวว่าแพทย์ผิดหรือถูก เพียงแต่ข้อเท็จจริงในการทำงานของแพทย์เป็นแบบนี้

“การตายมี 2 รูปแบบ คือ ตายทางการแพทย์ กับ ตายทางกฎหมาย ซึ่งไม่เหมือนกัน ตายทางการแพทย์หัวใจอาจจะยังเต้นอยู่ แต่แพทย์ถือว่าตายแล้ว กรณีแบบนี้ญาติยังไม่เข้าใจ แบบเอ๊ะ ทำไมหมอบอกว่าตาย แต่จับแล้วตัวยังอุ่น ๆ เพราะว่าการตายของแพทย์เราดูที่สมองว่าทำงานหรือไม่ แต่ถ้าตายตามกฎหมายคือหัวใจหยุดเต้น ไม่มีลมหายใจ

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ว่าคนไข้อาจจะเสียชีวิตแล้วทางการแพทย์ คือขาดออกซิเจนจนสมองตายไปแล้ว แต่ว่าเงื่อนไขการประกาศสมองตายก็มีรายละเอียดอีก ไม่ใช่ตรวจปุ๊บแล้วบอกว่าตายเลย มันก็จะมีเงื่อนไขลึกลงมาอีก ฉะนั้นประเด็นการตายจะผูกพันกันในสองมิติคือทางกฎหมายและทางการแพทย์ แต่คนส่วนใหญ่จะรู้ในแง่มุมของกฎหมาย”

ต่อคำถามที่ว่า กรณีของเหยื่อคดีผู้กำกับโจ้ ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่าผู้ต้องหา เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. แต่หลังจากเกิดเหตุ ทางโรงพยาบาลประกาศว่าจะออกใบชันสูตรพลิกศพในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ระยะเวลาขนาดนี้สามารถชันสูตรได้หรือไม่ นพ.เมธี กล่าวว่า เคยมีคดีฆาตกรรมใหญ่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สมบัติ ซึ่งมีการชันสูตรศพหลายรอบ ซึ่งกินระยะเวลาเป็นปี

เพราะฉะนั้น การชันสูตรจึงเกิดได้ซ้ำเมื่อไม่มั่นใจ แต่ในกรณีนี้ได้เผาศพไปแล้วจึงไม่มีศพมาให้ผ่าซ้ำ แสดงว่ากรณีนี้มีการผ่าศพไปก่อนหน้านี้แล้วแต่ผลชันสูตรเป็นทางการอาจยังไม่ออก ตามที่ได้บอกไปว่าไม่ได้มีเพียงการชันสูตรผ่าศพ แต่ยังมีผลตรวจเลือด และสารคัดหลั่งอีกด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกผล

“อันนี้ผมก็พูดในหลักการทางการแพทย์ แต่ผมว่าคนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นโรงพยาบาล แต่ถ้าโรงพยาบาลพูดแบบนี้จริง ผมกลับมองว่าโรงพยาบาลมีการสงสัยและเก็บอะไรบางอย่างไว้ในโรงพยาบาล ซึ่งอันนี้ข้อเท็จจริงต้องไปถามทางผู้ให้ข่าว เพราะบางทีฟังจากข่าวมันก็จะผิดเพี้ยน แต่หลักการทางการแพทย์เป็นแบบนี้”

นพ.เมธี กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีระยะเวลาในการรอผลชันสูตรศพออก ว่าหากเป็นกรณีเสียชีวิตและมีแพทย์ผ่าศพได้เลยเดี๋ยวนั้น บางทีผ่าเสร็จดูด้วยตาก็จะรู้ทันที หากไม่แน่ใจก็ต้องตัดชิ้นเนื้อไปย้อมพิเศษ ซึ่งมีเคสของนพ.เมธีเอง ที่ต้องรอผลถึง 3 สัปดาห์เพราะเป็นการย้อมพิเศษ มีคนไข้บางเคสที่ต้องส่งไปตรวจเมืองนอก เพราะในประเทศเราทำไม่ได้ แต่โดยการตรวจทั่วไปนิติเวชศาสตร์บ้านเราทำได้หมดแล้ว แต่ทำไมถึงนานหรือมีอะไรเป็นพิเศษ นพ.เมธีไม่ขอลงรายละเอียด ขอเพียงแค่บอกหลักการทางการแพทย์เท่านั้น

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button