ข่าวการเมืองข่าวภูมิภาค

ฟังอีกครั้ง ส.ส. เบญจา พรรคก้าวไกล อภิปรายปฏิรูปงบสถาบันฯ

เบญจา ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอปฏิรูปงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ยกตัวอย่างหน่วยงานรับงบฯ เอาข้อมูลเท็จมาใช้กับโครงการพระราชดำริ

วานนี้ 1 มิ.ย. 2564 วันที่สองของการประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2565 ช่วงกลางคืน เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายงบประมาณส่วนที่ระบุว่าเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ใน ขออย่านำสถาบันฯ มาเป็นเกราะกำบังจัดทำรายงานที่เป็นเท็จ นำเอาข้อมูลเท็จมาใช้กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ ของสถาบัน โดยระบุมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอยู่อย่างน้อยๆ 33,712 ล้านบาท เป็นรายการตามที่แสดงเป็นชื่อโครงการในเอกสารงบประมาณ ยังไม่ได้รวมงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่อาจซ่อนอยู่ในหมวดหมู่โครงการก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรืออื่นๆ ในจำนวนนี้แบ่งงบออกได้เป็น 5 ประเภท คือ

1. งบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
2. งบถวายความปลอดภัย
3. งบส่วนราชการในพระองค์
4. งบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงต่าง ๆ
5. งบอื่น ๆ เช่น พระราชทานเพลิงศพ เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ส.ส. เบญจา กล่าวว่า เงินจำนวน 33,712 ล้านบาทไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ประเด็นคือ แต่ละโครงกาารควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่งบประมาณถูกปรับลด ประชาชนทั้งประเทศต้องดำรงชีวิตอยู่ยอย่างลำบากยากแค้น สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว ถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่จัดลำดับความสำคัญของงบประมาณหรือจัดสรรงบประมาณซ้ำซ้อน การจัดสรรงบเช่นนี้ยิ่งถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

ส.ส. เบญจา ยังได้ยกตัวอย่างที่เธอเองได้อภิปรายถึงงบประมาณ เมื่อปี 64 ซึ่งเป็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน่วยรับงบฯ ที่มีการตั้ง งบประมาณซ้ำซ้อนเข้ามา โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหลวงต่างๆ ที่ใช้เงินมากกว่า 15,000 ล้านบาท ปรากฏ อยู่มากกว่า 50 โครงการ ผ่านหน่วยรับงบกว่า 30 กรม และอีกกว่า 7,000 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระจายอยู่ใน 7 แผนงาน

บางโครงการรัฐบาลได้รับพระราชทานพระราชดำริ บางโครงการมีประชาชนถวายฎีกาเข้ามา แต่หลายครั้งโครงการเหล่านี้ได้รับพระราชทานพระราชดำริมาเมื่อหลาย 10 ปีก่อน จึงอาจต้องมีการศึกษาใหม่หรือไม่ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตมากน้อยเพียงใด

ส.ส. เบญจา ยังพบว่าหน่วยงานรับงบฯและหน่วยงานราชการบางหน่วย พยายามผลักดันโครงการโดยไม่ได้ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่อย่างถ่องแท้ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ต่อต้านจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่

โดยได้ยกตัวอย่างเอกสาร โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว ที่คณะกรรมาธิการงบประมาณเมื่อปีที่แล้วเสนอให้ตัดงบประมาณ ซึ่ง กรมชลประทานฯ เร่งรีบจัดทำเพื่อผลักดันการสร้างอ่างเก็บน้ำหมืองตะกั่ว

แต่ปรากฏมีข้อผิดพลาดในเอกสารบางอย่าง ความผิดพลาดนั้นคือการที่กรมชลประทานจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พัทลุง แต่มีการคัดลอกเอารายงานของจังหวัดเพชรบูรณ์มาเปลี่ยนชื่อเป็นของจังหวัดพัทลุง แล้วลืมแก้ไขข้อมูลพื้นฐานสำคัญอย่าง ลักษณะทางภูมิศาสตร์และพืชเศรษฐกิจหลัก จนถูกประชาชนทั่วไปจับผิดได้ แม้กรมชลประทานฯ จะอ้างว่าเป็นรายงานฉบับเก่า

แต่จะเป็นฉบับเก่าหรือใหม่ สาระสำคัญ คือ การจัดทำรายงานที่เป็นเท็จ ซึ่งการเอาข้อมูลเป็นเท็จมาใช้กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การแอบอ้างเช่นนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่ และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของสถาบันฯ เสื่อมเสียไปถึงพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัติรย์หรือไม่

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button