ข่าวภูมิภาค

สมาพันธ์ภาพยนตร์ ควง เน็ตฟลิกซ์ เปิดกองทุนเยียวยาโควิด สำหรับฟรีแลนซ์

สมาพันธ์ภาพยนตร์ ควง เน็ตฟลิกซ์ เปิดกองทุนเยียวยาโควิด สำหรับฟรีแลนซ์

28 พฤษภาคม – สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ประกาศร่วมมือกับ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) บริการสตรีมมิ่งชื่อดังของโลก เปิด “กองทุนเยียวยาโควิด-19 สำหรับลูกจ้างอิสระในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์” หวังมอบความช่วยเหลือกับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19

ด้าน ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เผยว่า “สมาพันธ์ฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสระดมกำลังเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพ ในอุตสาหกรรม ภาพยนตร์และละครไทยที่กำลังประสบปัญหาอยู่ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก เน็ตฟลิกซ์ สมาพันธ์ภาพยนตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทุนนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับเพื่อนๆบุคลากรในวงการในช่วงเวลาวิกฤตโควิด-19 นี้ ได้บ้างไม่มากก็น้อย”

ขณะที่ นางไมลีตา อากา ผู้อำนวยการฝ่าย Content Acquisition เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ของ เน็ตฟลิกซ์ เผยถึงการร่วมมือในครั้งนี้ว่า “เราขอขอบคุณคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับการทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าประทับใจจากประเทศไทยให้เราได้รับชมกันบนเน็ตฟลิกซ์ ความร่วมมือกับ สมาพันธ์ภาพยนตร์ ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะก้าวเข้ามาสนับสนุนพี่น้องในวงการบันเทิง ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงนี้”

https://www.facebook.com/mpcthailand/photos/a.744116102282254/3616660305027805/?type=3&theater

 

รายละเอียดของกองทุนเยียวยาโควิด-19

เปิดรับความช่วยเหลือผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป โดยคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนจะต้องเป็น ลูกจ้างอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ (Freelance) ในกระบวนการการผลิตภาพยนตร์ หรือ ละครโทรทัศน์ในไทยโดยสามารถชี้แจงให้เห็นได้ว่า งานที่ตนทำอยู่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกหรือเลื่อนการผลิตออกไปนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา (ช่วงเวลาเดียวกับการประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน)

นอกจากนี้ต้องไม่เป็นลูกจ้างอิสระที่ทำงานให้กับสายการผลิตของ เน็ตฟลิกซ์ อยู่ ณ เวลานี้ หรือได้รับเงินเยียวยาจากเน็ตฟลิกซ์ก่อนหน้านี้และเป็นผู้ถือสัญชาติไทยหรือ ผู้มีถิ่นพํานักถาวรในประเทศไทย

โดยลูกจ้างอิสระที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยา มีดังต่อไปนี้

  • ฝ่ายแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟค – ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น 2D/3D แอนิเมเตอร์ นักวาดสตอรี่บอร์ด นักวาดคอนเซ็ปต์อาร์ต ช่าง2D/3D VFX นักตัดต่อ VFX ผู้ประสานงานฝ่าย VFX ผู้ช่วยช่างเทคนิคฝ่าย VFX และอื่นๆ
  • ฝ่ายศิลป์ – ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบฉาก ผู้จัดการอุปกรณ์ประกอบฉากหน้ากอง ทีมงานฝ่ายจัดสร้างฉาก ทีมงานช่างก่อสร้าง ผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ และอื่นๆ
  • ฝ่ายเครื่องแต่งกาย/แต่งหน้า – ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยฝ่ายเครื่องแต่งกาย ผู้ช่วยฝ่ายแต่งหน้า ผู้ช่วยฝ่ายทำผม และอื่นๆ
  • ฝ่ายบริหารจัดการกองถ่าย – ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยประจำกองถ่าย ผู้ช่วยผู้กำกับที่สองและที่สาม ผู้ช่วยฝ่ายบัญชี แคชเชียร์ประจำกองถ่าย ผู้ช่วยฝ่ายสถานที่ และผู้ช่วยฝ่ายจัดหานักแสดง คนขับรถประจำกองถ่าย ผู้ช่วยด้านสวัสดิการ และอื่นๆ
  • ฝ่ายโพสต์โปรดักชั่น – ผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ประสานงานฝ่ายโพสต์ ผู้ช่วยนักตัดต่อ ผู้ช่วยฝ่ายเสียง ผู้ช่วยนักปรับแต่งสี ผู้แปลสคริปต์ และอื่นๆ
  • ฝ่ายงานเทคนิค – ผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้เก็บบันทึกไฟล์งาน ผู้ควบคุมไมค์บูม ช่างไฟ ผู้ช่วยผู้กำกับภาพที่สองและที่สาม ผู้ช่วยช่างถ่ายภาพนิ่งประจำกองถ่าย ทีมงานช่างไฟและผู้ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค และอื่นๆ

วิธีลงทะเบียน

  • ผู้ลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์มใบลงทะเบียนและมีหนังสือรับรองการทํางานจากผู้ว่าจ้างงานเพื่อใช้เป็น เอกสารยืนยันว่างานที่ตนทําอยู่ได้รับผลกระทบ
  • แบบฟอร์มใบลงทะเบียนและหนังสือรับรองการทํางานดาวน์โหลด >>> คลิกใบลงทะเบียนและหนังสือรับรองการทํางาน
  • ส่ง (1) ไฟล์แบบฟอร์มการลงทะเบียนที่กรอกรายละเอียดสมบูรณ์ครบถ้วนพร้อม (2) หนังสือรับรอง การทํางาน (3) สําเนาบัตรประชาชนหรือสําเนาหนังสือเดินทาง และ (4) สําเนาหน้าสมุดธนาคา
  • นําส่งไฟล์เอกสารทั้งหมด ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ลิ้งค์ คลิก >>> Google Form <<< (ซึ่งประกาศบนหน้าแรก ของเว็บไซด์ของสมาพันธ์ภาพยนตร์ www.mpc.or.th) ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง สมาพันธ์ภาพยนตร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button