บันเทิง

เพชรพระอุมา นวนิยายที่ยาวที่สุดในโลก

เพชรพระอุมา นวนิยายที่ยาวที่สุดในโลก

เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายแนวผจญภัยที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และนับว่าเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลก บทประพันธ์โดย พนมเทียน ซึ่งเป็นนามปากกาของนายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และตีพิมพ์ต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์รายวัน ใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี โดยพนมเทียนเริ่มต้นการประพันธ์เพชรพระอุมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และสิ้นสุดเนื้อเรื่องทั้งหมดในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533 รวมระยะเวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน กับ 2 วัน

เพชรพระอุมาถูกนำมาตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มซ้ำใหม่หลายครั้ง ในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ค จำนวน 48 เล่ม โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ลิขสิทธิ์โดยพนมเทียน (เดิมเป็นชนิดปกแข็งจำนวน 53 เล่ม แต่ละเล่มมีความหนาประมาณ 33 ยก หรือ 16 หน้ายก และเมื่อนำมารวมกันทั้งหมดจะมีความหนาประมาณ 1,749 ยก แบ่งเป็นสามภาคได้แก่ ภาคแรก จำนวน 24 เล่ม ภาคสอง จำนวน 15 เล่ม และ ภาคสาม จำนวน 14 เล่ม แต่ปัจจุบันได้รวบรวมเนื้อหาในแต่ละภาคและลดลงคงเหลือเพียงแค่ 48 เล่ม) แบ่งเป็นสองภาคคือภาคแรก จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน ตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2541 และทำการปรับปรุงต้นฉบับเดิมพร้อมกับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2544 และตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2547 อีกทั้งยังมีการทำเป็น eBook โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ในปี พ.ศ. 2556

โดยเนื้อเรื่องต่าง ๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้นำเค้าโครงเรื่องมาจาก คิง โซโลมอน’ส มายน์ส (King Solomon’s Mines) หรือ สมบัติพระศุลี นวนิยายของเซอร์เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด (H. Rider Haggard) ที่ผจญภัยในความลี้ลับของป่าดงดิบภายในทวีปแอฟริกา

จุดเริ่มต้นของเพชรพระอุมา

พนมเทียนเริ่มต้นการเขียนเพชรพระอุมาในปี พ.ศ. 2507 โดยตกลงทำข้อสัญญากับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา (ซึ่งปัจจุบันสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ได้ยุติกิจการไปแล้ว) ในการเขียนนวนิยายแนวผจญภัยในป่าจำนวนหนึ่งเรื่อง โดยมีข้อกำหนดความยาวของนวนิยายเพียงแค่ 8 เล่มจบเท่านั้น แต่กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทำให้ต้องเขียนเพชรพระอุมาเพิ่มเติมต่อจนครบ 10 เล่ม และขอยุติการเขียนตามข้อสัญญา แต่ทางสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยายังไม่อนุญาตให้พนมเทียนยุติการเขียน และได้ขอร้องให้เขียนเพิ่มเติมต่ออีก 5 เล่ม พร้อมกับบอกกล่าวถึงความนิยมของนักอ่านที่มีต่อเพชรพระอุมา ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนต้องมีการตีพิมพ์ซ้ำหลาย ๆ ครั้งด้วยกันในระยะปลาย ๆ ของเล่มที่ 10 จนสถิติการตีพิมพ์และการจัดจำหน่ายของนวนิยายเรื่องนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้รับการตอบรับจากนักอ่านหลาย ๆ รุ่นเป็นอย่างดีในการช่วยขัดเกลาเนื้อเรื่องของเพชรพระอุมา และแจ้งเตือนแก่พนมเทียนถึงชื่อตัวละครหรือสถานที่ที่ปรากฏในเพชรพระอุมาที่มีการผิดพลาด

เพชรพระอุมาออกวางจำหน่ายในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ค เป็นแบบรายวันคือ 10 วัน ต่อหนังสือ 1 เล่ม และยังคงดำเนินเนื้อเรื่องต่อไปจนถึงเล่มที่ 40 จนกระทั่งมีความยาวถึง 98 เล่ม เนื้อเรื่องก็ยังไม่สามารถจบลงได้ จนกระทั่งเพชรพระอุมาฉบับพ็อตเก็ตบุ๊คเล่มที่ 99 ได้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 จึงได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องใน “จักรวาลรายสัปดาห์” ในปี พ.ศ. 2513 เป็นระยะเวลา 5 ปี และตีพิมพ์ต่อเนื่องใน “หนังสือพิมพ์เดลินิวส์” ในปี พ.ศ. 2518 เป็นระยะเวลาอีก 6 ปี พนมเทียนก็ยังไม่สามารถจบเรื่องราวการผจญกัยในป่าของเพชรพระอุมา จนกระทั่งได้รับการตีพิมพ์ต่อใน “จักรวาลปืน” ในปี พ.ศ. 2525 อีก 8 ปี เรื่องราวทั้งหมดจึงสามารถจบลงได้ในปี พ.ศ. 2533

ความเป็นมาของโครงเรื่อง

โครงเรื่องของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้เค้าโครงเรื่องมาจากแนวความคิดของเรื่องคิง โซโลมอน’ส มายน์ส ของ เซอร์ฯ แฮกการ์ด ซึ่งเป็นเค้าโครงของการผจญภัยเรื่องที่ดีมากเรื่องหนึ่ง โดยก่อนหน้าที่พนมเทียนจะเขียนเพชรพระอุมาก็ได้มีการวางโครงเรื่องคร่าวๆ ไว้เช่นเดียวกับงานเขียนอื่นๆ ซึ่งโครงเรื่องคร่าวๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนวางเอาไว้เพียงเล็กน้อยโดยกำหนดให้เป็นเรื่องราวการผจญภัยในป่าของนายพรานผู้นำทางคนหนึ่งเท่านั้น

และต่อมาภายหลังได้เขียนเนื้อหาสำคัญของโครงเรื่องเพิ่มเติม จนกลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางและการผจญภัยของพรานป่า ที่รับจ้างวานนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายยังดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยอาถรรพณ์แห่งป่า พร้อมกับขุมทรัพย์เพชรพระอุมาอันเป็นตำนานเล่าขาน ก่อนออกเดินทางมีกะเหรี่ยงพเนจรมาขอสมัครเป็นคนรับใช้และขอร่วมติดตามไปกับคณะเดินทางด้วย จนกระทั่งเมื่อบุกป่าฝ่าดงและอันตรายต่างๆ ไปถึงจุดหมายปลายทางความจริงก็ปรากฏว่า กะเหรี่ยงลึกลับที่ร่วมเดินทางมาด้วยนั้นกลายเป็นรัชทายาทที่แท้จริงของเมืองมรกตนคร เมืองลับแลที่ไม่ปรากฏในแผนที่ พรานผู้นำทางและคณะเดินทางได้ช่วยกันทวงชิงและกอบกู้ราชบัลลังก์คืนให้แก่กะเหรี่ยงลึกลับได้สำเร็จพร้อมกับได้พบขุมทรัพย์เพชรพระอุมาที่เป็นตำนานเล่าขานมาแต่โบราณ

จากโครงเรื่องเดิมของคิง โซโลมอน’ส มายน์ส เพียงแค่ 4 บรรทัดเท่านั้น แต่พนมเทียนสามารถนำมาเขียนเป็นเพชรพระอุมาโดยเล่าเรื่องราวการเดินป่า การดำรงชีวิตและการล่าสัตว์ รวมทั้งภูมิประเทศในป่าดงดิบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ไปจนจรดชายแดนพม่าและน่าจะล่วงเลยไปถึงแถบเทือกเขาหิมาลัย (เพราะในตอนท้ายเรื่องมีฉากที่ต้องอยู่ในภูมิประเทศที่มีหิมะตก) ในปัจจุบัน โดยดึงประเด็นจุดสำคัญของชีวิตการเดินป่าของตนเองที่เคยผ่านมาก่อนผสมเข้าในไปโครงเรื่องของเพชรพระอุมาด้วย

ต้นแบบของโครงเรื่อง

พนมเทียนนำเอาความรู้ความชำนาญในการเดินป่า การดำรงชีวิตและการล่าสัตว์จากประสบการณ์จริงของตนเอง มาเป็นพื้นฐานในการเขียนนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา โดยเค้าโครงเรื่องและส่วนประกอบต่างๆ ได้นำมาจากเรื่องเล่าขานและสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากนักท่องไพรรุ่นอาวุโส หรือเรื่องเล่ารอบกองไฟของพรานพื้นเมืองต่างๆ ยามพักผ่อนภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการล่าสัตว์และเล่าเรื่องราวต่างๆ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

เพชรพระอุมามีองค์ประกอบหลักๆ ที่พนมเทียนนำมาเป็นต้นแบบของโครงเรื่อง ดังนี้

  1. นำมาจากประสบการณ์การเดินป่าของตนเองส่วนหนึ่ง
  2. เก็บเรื่องเล่าจากการล้อมวงรอบกองไฟของพรานพื้นเมืองและนักท่องไพรต่าง ๆ
  3. เรื่องเล่าเก่าๆ จากบรรพบุรุษ ถึงความลึกลับและอาถรรพณ์ต่าง ๆ ของป่าในวัยเด็ก
  4. เกิดจากแรงสร้างสรรค์และจินตนาการของตนเอง

ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำมาเขียนเพชรพระอุมา พนมเทียนก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ อารมณ์และจินตนาการของตัวละครในนวนิยายได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งต้นแบบของโครงเรื่อง ก็มาจากประสบการณ์จริงบวกกับจินตนาการของพนมเทียนนั่นเอง

โครงเรื่อง

เพชรพระอุมาเป็นนวนิยายที่มีความยาวทั้งสิ้น 48 เล่ม 12 ตอน แบ่งออกเป็นสองภาคคือภาคแรกและภาคสมบูรณ์ ภาคละ 24 เล่ม จำนวน 6 ตอน ซึ่งภาคแรกของเพชรพระอุมาได้แก่ ไพรมหากาฬ, ดงมรณะ, จอมผีดิบมันตรัย, อาถรรพณ์นิทรานคร, ป่าโลกล้านปีและแงซายจอมจักรา สำหรับภาคสมบูรณ์ได้แก่ จอมพราน, ไอ้งาดำ, จิตรางคนางค์, นาคเทวี, แต่ปางบรรพ์และมงกุฎไพร

เนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องทั้งหมดจำนวน 48 เล่ม ความยาวมากกว่า 18,000 หน้า แบ่งเป็นสองภาค ดังนี้

  • ภาคแรก :ไพรมหากาฬ เล่ม 1 ดำเนินเนื้อเรื่องถึง แงซายจอมจักรา เล่ม 4 (รวม 24 เล่ม)
  • ภาคสมบูรณ์ :จอมพราน เล่ม 1 ดำเนินเนื้อเรื่องถึง มงกุฏไพร เล่ม 4 (รวม 24 เล่ม)

ตัวละครและความเป็นมา

แบ่งแยกตามตัวละครหลักและตัวละครรอง ตามแต่ปรากฏในแต่ละภาค ได้แก่ภาคแรกไพรมหากาฬ – แงซายจอมจักรา ในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายและภาคสมบูรณ์จอมพราน – มงกุฎไพร ในการออกติดตามหาเครื่องบิน บี 52 และระเบิดนิวเคลียร์

เนื่องจากเป็นนวนิยายที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้พนมเทียนต้องสร้างตัวละครขึ้นมาเป็นจำนวนมาก นอกจากตัวละครหลักคือ รพินทร์ ไพรวัลย์ และตัวละครอื่น ๆ ในภาคแรกได้แก่คณะนายจ้างที่มีพันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา, หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์, พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย,มาเรีย ฮอฟมัน, แงซาย พรานคู่ใจของรพินทร์ ฯลฯ แล้ว ยังมีตัวละครปลีกย่อยอีกนับไม่ถ้วนที่ปรากฏในแต่ละตอน รวมทั้งในภาคสมบูรณ์ที่ประกอบด้วยคณะนายจ้างชุดใหม่ในการออกติดตามค้นหาซากเครื่องบินและระเบิดนิวเคลียร์

ตัวละครเหล่านี้ มีลักษณะนิสัยใจคอรวมทั้งบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน จากจินตนาการและบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ โดยหยิบยืมลักษณะนิสัยบางส่วน นำมาแต่งเติม ได้แก่ รพินทร์ ไพรวัลย์, หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์, แงซาย, พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์, พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย, มาเรีย ฮอฟมัน ฯลฯ

เพชรพระอุมาในรูปแบบอื่น

หนังสือการ์ตูนและนิยายภาพ

หนังสือการ์ตูน จำนวน 2 ครั้งด้วยกันในอดีต โดยผู้เขียนคือ จุก เบี้ยวสกุล และ ตาโปน ในปี พ.ศ. 2520 และ พ.ศ. 2531 ปัจจุบันตีพิมพ์เป็นนิยายภาพอีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม จำนวน 48 เล่ม ผลงานภาพของโอม รัชเวทย์ นักเขียนการ์ตูนไทย ที่มีฝืมือระดับต้น ๆ ของเมืองไทย ซึ่งเคยมีผลงานจากพระมหาชนกและคุณทองแดง โดย ชัย ราชวัตร เป็นผู้ช่วยร่างภาพตัวละครต่าง ๆ และลงรายละเอียด ออกจำหน่ายครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 ในรูปแบบของนิยายภาพขาวดำ

ภาพยนตร์

เพชรพระอุมาได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ระบบ 35 มม. ซีเนมาสโคป สร้างโดย วิทยาภาพยนตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2514 หลังซื้อลิขสิทธิ์จากพนมเทียน วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2513 ถ่ายทำเกือบตลอดทั้งเรื่องภายในประเทศไทยและแอฟริกา กำกับโดย ส. อาสนจินดา บทภาพยนตร์โดย ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง ถ่ายภาพโดย พูนสวัสดิ์ ธีมากร เพลงประกอบโดย สุรพล โทณะวณิก ฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2514

นำแสดงโดย รพินทร์ ไพรวัลย์ (วิทยา เวสสวัฒน์ ผู้อำนวยการสร้าง) รับบทเป็นรพินทร์ ไพรวัลย์, สุทิศา พัฒนุช รับบทเป็นดาริน วราฤทธิ์, อดุลย์ ดุลยรัตน์ รับบทเป็นเชษฐา วราฤทธิ์, ชนะ ศรีอุบล รับบทเป็นแงซาย, ประจวบ ฤกษ์ยามดี รับบทเป็นไชยยันต์ อนันตรัย

ปัจจุบันมีโครงการสร้างใหม่อีกครั้งโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่ายจากคลับสมาชิกเว็บไซต์พันทิปจำนวนมากภายในห้องเพชรพระอุมา คาดหวังว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลก ที่แฟนนวนิยายช่วยกันเขียนผ่านทางอินเทอร์เน็ต และอาจใช้เวลาในการถ่ายทำยาวนานถึง 4 ปี เฉพาะภาคแรกคือออกติดตามค้นหาพรานชด เนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ภาค คล้ายแนวของฮอลลีวู้ดอย่าง Jurassic Park, Mummy และ Gladiator

ภาคแรก เรื่มที่สถานีกักสัตว์ซึ่งเป็นการเปิดตัวรพินทร์ ไพรวัลย์ให้คณะนายจ้างจากเมืองหลวงได้พบเห็น จนกระทั่งเดินทางถึงหมู่บ้านหล่มช้าง (ไพรมหากาฬ เล่มที่ 1 จนถึงดงมรณะ เล่มที่ 3)

ภาคสอง หลังออกเดินทางจากหมู่บ้านหล่มช้างจนถึงเนินพระจันทร์ (ดงมรณะ เล่มที่ 4 จนถึงป่าโลกล้านปี เล่มที่ 4)

ภาคสาม หลังออกเดินทางจากเนินพระจันนทร์สู่มรกตนคร พร้อมกับนำตัวพรานชดและหนานอินกลับมาจนถึงหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง (แงซายจอมจักรา เล่มที่ 1-4)

ที่มา: วิกิพีเดีย

P. Wanutch

อัพเดททุกความบันเทิง ทั้งไทย ต่างประเทศ K-pop รีวิวหนัง เพลง คอนเสิร์ต พร้อมนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจและหลากหลาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button