ข่าวภูมิภาค

อ.ปริญญา มธ.ชี้ พระพุทธรูปอุลตร้าแมน ไม่ผิดกฎหมาย ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้ยึดติด

อ.ปริญญา มธ.ชี้ พระพุทธรูปอุลตร้าแมน ไม่ผิดกฎหมาย ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้ยึดติด ยินดีช่วยด้านกฎหมายเต็มที่

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน – วันที่ 12 กันยายน อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ กล่าวถึงกรณี พระพุทธรูปอุลตร้าแมน ว่า

“#พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

เราชาวพุทธควรทราบว่าพระพุทธรูปนั้นเพิ่งจะมีภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วตั้ง ๕๐๐ ปี โดยพวกกรีกนำมาเผยแพร่ให้อินเดีย พระพุทธรูปในยุคแรกที่เมืองคันธาระจึงมีใบหน้าท่าทางที่ถอดแบบมาจากเทวดากรีกแทบไม่ผิดเพี้ยน

พระพุทธรูปจึงมิใช่ของศาสนาพุทธมาตั้งแต่แรก แต่พวกกรีกที่มาตีอินเดียเอามาเติมให้

ส่วนอุลตร้าแมนนั้น คนไทยไม่ค่อยทราบกันว่าออกแบบโดยคนไทย คือสมโพธิ แสงเดือนฉาย ตอนไปทำงานให้กับบริษัทสึบุราย่าแห่งประเทศญี่ปุ่น คุณสมโพธิเล่าไว้ในคลิปที่สามารถหาชมได้ในยูทิวป์ว่า เขาเอาใบหน้าอุลตร้าแมนมาจากพระพุทธรูปสุโขทัย ซึ่งก็มีแบบมาจากพระพุทธรูปคันธาระอีกที

ดังนั้น ถ้าจะว่ากันแบบฮินดู อุลตร้าแมนก็ถือเป็นปางหนึ่งหรืออวตารหนึ่งของพระพุทธรูป ตอนที่ผมเห็นงานศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน จึงรู้สึกทึ่ง แล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการลบหลู่พระพุทธเจ้าตรงไหน

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งการ “หลุด” ไม่ใช่การ “ติด” แม้กระทั่งธรรมะที่เป็นของพระพุทธองค์ ท่านยังบอกเป็นบาลีไว้เลยว่า

สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ
“ธรรม” หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

ขนาดธรรมะท่านยังว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นับประสาอะไรกับของที่เติมมาในภายหลัง เรื่องพระพุทธรูปอุลตร้าแมนถ้าใครไม่ชอบใจ หรือไม่เห็นด้วยก็ทักท้วงติติงกันตามควร แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกันมากจนเกินเลยไปจากที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ที่ทำถึงขนาดบังคับให้นักศึกษาที่เป็นผู้วาดไปขอขมาพระ เป็นเรื่องที่เกินเลยไปอยู่แล้ว ยิ่งไปแจ้งความตำรวจยิ่งเกินเลยไปกันใหญ่

ผมเป็นนักกฎหมายนึกไม่ออกเลยครับว่านักศึกษาผู้วาดเค้าผิดกฎหมายไหนมาตราใด เพราะเรื่องนี้อย่างมากก็เป็นแค่เรื่องเหมาะสมไม่เหมาะสม เลยไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นคดีความอะไรขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากทางตำรวจเกิดบ้าจี้ดำเนินคดีขึ้นมา ผมจะขอช่วยสู้คดีเต็มที่เลยครับ”

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2588313564545899&set=a.271670256210253&type=3

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button