ข่าว

20 มี.ค. 67 “วันวสันตวิษุวัต” ปรากฏการณ์ เวลากลางวันยาวเท่ากลางคืน

ชวนรู้จัก “วันวสันตวิษุวัต” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม 2567 ปรากฏการณ์เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

ใกล้เข้ามาทุกที สำหรับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ กลางวันยาวเท่ากลางคืน หรือ “วันวสันตวิษุวัต” ที่จะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งนับเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกของปีนี้ และล่าสุด (18 มีนาคม 2567) NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ให้ความรู้ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี อันนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้

วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) หรือชื่อภาษาอังกฤษ Vernal Equinox เป็นการที่ช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

วันวสันตวิษุวัต 20 มี.ค. 67
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้ จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนธันวาคม ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือเรื่อย ๆ จนถึงตำแหน่งที่ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและจะตกทางทิศตะวันตกพอดี

สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้

ปรากฏการณ์ขึ้น-ลงของดวงอาทิตย์
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้นบนโลก

ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ ในครั้งถัดไปตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็นวันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกใต้”

อย่างไรก็ดี นอกจากปรากฏการณ์การขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ในครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน หรือที่เรียกว่าวันครีษมายันแล้ว ในช่วงเดือนกันยายน ปรากฏการณ์ก็จะเกิดขึ้นในอีกครั้งโดยจะเรียกว่าวันศารทวิษุวัต และครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคมในชื่อว่าวันเหมายัน

การเคลื่อนที่ของโลกรอบดวงอาทิตย์
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button