ข่าวข่าวการเมือง

อ่าน คำวินิจฉัยศาล รธน. ฉบับเต็ม ‘พิธา-ก้าวไกล’ ล้มล้างการปกครอง

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับเต็ม พิธา และ ก้าวไกล เสนอแก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 49

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 32 หน้า จากกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่

ภายหลังจากที่ผู้ถูกร้องทั้งสองร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2566

ศาลรัฐธรรมนูญระบุในคำวินิจฉัย โดยอ้างคําวินิจฉัยที่ 3/2562 ว่า สาระสําคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองประชาธิปไตยของไทย ดังได้ระบุไว้ในความของพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงดํารงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนํามาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไป

ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2553 วินิจฉัยว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตย ทรงดํารงอยู่เหนือการเมือง และทรงดํารงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ทางการเมือง” การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดําเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้งมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชํารุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74

อ่านคำวินิจฉัยเต็มๆ ที่นี่

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button