ไลฟ์สไตล์

วงแหวนแห่งไฟ พื้นที่กำเนิดแผ่นดินไหวทั่วโลก คืออะไร

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า วงแหวนแห่งไฟ ผ่าน ๆ หูกันมาบ้างเวลาเกิดภัยทางธรรมชาติ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักว่าเจ้าวงแหวนแห่งไฟเนี้ยคืออะไร แล้วที่มาจุดเริ่มต้นของมันเป็นอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับวงแหวนแห่งไฟว่ามันเกิดจากอะไร อยู่ในบริเวณพื้นที่ของประเทศใดบ้าง ความอันตรายและผลกระทบของวงแหวนแห่งไฟนั้นรุนแรงเพียงใด

วงแหวนแห่งไฟ คืออะไร ?

วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) หรือที่เรารู้จักในชื่อ “แนวเทือกเขารอบมหาสมุทรแปซิฟิก” (Circum Pacific Belt) คือ แนวภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่น (active volcano) อยู่กว่า 75% ซึ่งกระจายอยู่รอบของมหาสมุทรแปซิฟิก ลากยาวตั้งแต่ด้านใต้ของอเมริกาใต้แล้วไล่ไปตามแนวชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ ผ่านช่องแคบแบริ่ง ลงมาประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิ้นสุดที่ฟิจิและนิวซีแลนด์

ภูเขาไฟส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากบริเวณที่มีแผ่นธรณีชนกัน โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิกฟิกซึ่งแผ่นธรณีมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลาในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งชนกันและแยกออกจากกันนี่จึงเป็นอีกสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด

วงแหวนแห่งไฟ
ภาพจาก : NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย

ด้วยลักษณะที่คล้ายวง ๆ เช่นนี้จึงถูกเรียกว่า วงแหวนแห่งไฟ ถึงแม้ว่าลักษณะจะเหมือนกับเกือกม้าก็ตาม และพื้นที่ดังกล่าวยังมีร่องลึกก้นสมุทรที่มีความยาวรวมกันราว 40,000 กิโลเมตร ภูเขาไฟ 452 ลูก ครอบคลุมพื้นที่ในมหาสมุทรและประเทศในทวีปต่าง ๆ รวมกัน 31 ประเทศ

มหาสมุทรแปซิฟิกถือว่าเป็นจุดกำเนิดของปรากฏการณ์แผ่นดินไหวกว่า 90% ที่เกิดขึ้นบนโลกเลยทีเดียว และกว่า 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นภายในบริเวณวงแหวนแห่งไฟทำให้ภูมิประเทศทั้งทางบก น้ำ และใต้พื้นดินบริเวณนี้นั้นเอื้อต่อการเกิดภัยธรรมชาติมากที่สุด

ประเทศบริเวณที่ตั้งอยู่บนพื้นที่วงแหวนแห่งไฟ

ประเทศที่ตั้ง หรือมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ ได้แก่ ประเทศเบลีซ โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย ชิลี คอสตาริกา เอกวาดอร์ ติมอร์ตะวันออก เอลซัลวาดอร์ ไมโครนีเซีย ฟิจิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คิริบาตี เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นิการากัว ปาเลา ปาปัวนิวกินี ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู และสหรัฐอเมริกา

การกำเนิดของวงแหวนแห่งไฟ

วงแหวนแห่งไฟ เกิดจากการเคลื่อนที่เข้าหากันของแผ่นเปลือกโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งได้ก่อให้เกิดการมุดตัวซ้อนกันในบริเวณที่เรียกว่า เขตมุดตัวของเปลือกโลก (Subduction Zone) ใต้มหาสมุทรและการมุดตัวลงของแผ่นธรณีนี้ก่อให้เกิดร่องลึกใต้มหาสมุทรและการหลอมละลายแผ่นเปลือกโลก จุดที่เกิดการเกยกันของแผ่นเปลือกในวงแหวนแห่งไฟ คือจุดลึกที่สุดของโลกใต้มหาสมุทร เรียกกันว่า ร่องลึกมาเรียนา ที่มีความลึกอยู่ 10,984 เมตร หรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลลงไป 11 กิโลเมตร

วงแหวนแห่งไฟเป็นบริเวณที่ขอบแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ชนกัน หรือเคลื่อนที่ผ่านกันจนก่อให้เกิดแนวเทือกเขาที่มีลักษณะคล้ายเกือกม้า โดยเกิดจากการเคลื่อนที่มาชนกันและมุดตัวซ้อนกันของแผ่นธรณีจำนวนมาก นอกจากนี้ยังรวมถึงการซ้อนทับกันของแผ่นธรณีขนาดเล็กหลายแผ่นบริเวณทางตอนใต้ของวงแหวนแห่งไฟ ซึ่งมีจุดเริ่มตั้นแต่เกาะมาเรียน่าของประเทศฟิลิปปินส์ เกาะบัวเกนวิลล์ของตองกา และนิวซีแลนด์ที่ต่อเนื่องไปยังแนวเทือกเขาอัลไพน์ ตั้งแต่บริเวณเกาะชวาและเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียผ่านเทือกเขาหิมาลัย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งแนวภูเขาไฟและรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกนี้ เป็นต้นกำเนิดของปรากฏการณ์แผ่นดินไหวมากถึงร้อยละ 27 ของปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดทั่วโลก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ บริเวณวงแหวนแห่งไฟ

ในอดีตได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายมากมายทั้งทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน และประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุภัยพิบัติ ซึ่งประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่บริเวณวงแหวนแห่งไฟ เราจึงได้ยก 5 ประเทศ ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้และได้รับผลกระทบมากมาย ได้แก่

1. ประเทศชิลี เมืองวาลดิเวีย วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1960 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ริกเตอร์

เป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในโลกเกิดทางตอนใต้ของประเทศชิลี ซึ่งไหวอยู่นานถึง 5 นาทีกว่าเมืองใหญ่ ๆ ได้ถล่มลงไปสามเมืองยังไม่นับเมืองเล็ก ๆ และหมู่บ้านตามแนวชายฝั่ง การเกิดแผ่นดินไหว หินร่วง และดินถล่มนี้

ส่งผลกระทบทำให้มียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 5700 ราย เป็นจำนวนเกือบครึ่งอยู่ในชิลี และค่าเสียหายเฉพาะภายในชิลี ประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้ภูเขาไฟปูเยเว่ที่อยู่ใกล้ ๆ เกิดระเบิดหลังจากแผ่นดินไหวเพียง 19 วัน

แผ่นดินไหวที่ชิลี ปี1960
ภาพจาก : NOAA

2. ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐอลาสก้า วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1964 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.3 ริกเตอร์

แผ่นดินไหวนี้ส่งผลทำให้เกิดคลื่นยักษ์สินามิขนาดใหญ่ 60 เมตร บริเวณปากทางน้ำวาลเดซ โดยเมืองแองเคอเรจเป็นพื้นที่ที่เกิดความเสียหายมากที่สุด

ส่งผลกระทบทำให้มียอดผู้เสียชีวิต 122 ราย และค่าเสียหายจำนวน 311 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

แผ่นดินไหวที่อลาสก้า ปี1964
ภาพจาก : USGS

3. ประเทศอินโดนีเซีย เกาะสุมาตรา วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2004 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์

แผ่นดินไหวนี้เกิดในมหาสมุทรอินเดีย นอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรามีคลื่นสึนามิตามมา นักวิทยาศาสตร์มีการบอกว่าการสั่นสะเทือนครั้งนี้รุนแรงถึงขนาดที่ทำให้การหมุนของโลกเบนออกจากแกนเดิมเกือบหนึ่งนิ้วเลย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นที่จดจำไปอีกนาน เนื่องจากคลื่นสึนามิได้นำความเสียหายไปสู่ทุกประเทศที่อยู่รอบมหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงประเทศไทย

ส่งผลกระทบทำให้มียอดผู้เสียชีวิต 12 ประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย โซมาเนีย ไทย มัลดีฟส์ มาเลเซีย พม่า แทนซาเนีย เซเซลล์ บังคลาเทศ และเคนย่า รวมกันแล้วประมาณ 230,000 ราย ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซีย ประมาณ 168,000 ราย

แผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย ปี2004
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

4. ประเทศญี่ปุ่น เกาะฮอนชู วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์

แผ่นดินไหวนี้เกิดห่างจากเมืองเซนได ประมาณ 150 กิโลเมตร ส่งผลทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงกระทบเข้ากับชายฝั่ง เหตุแผ่นดินไหวนี้ได้เคลื่อนเกาะฮอนชูไปทางตะวันออก 204 เมตร และเคลื่อนแกนหมุนของโลกไปเกือบ 10 เซนติเมตร จากการเกิดแผ่นดินไหวทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่สร้างความเสียหายอย่างมากตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของหมู่เกาะตอนเหนือของญี่ปุ่น

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ 1 และ 2 ถูกคลื่นสึนามิซัดข้ามกำแพง และทำลายระบบกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสำรองทำให้เกิดปัญหาในการลดความร้อน และทำให้เกิดการระเบิด 2 ครั้ง ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 1 ทำให้กัมมันตภาพรังสีในบริเวณรอบข้างมีระดับสูงขึ้นส่งผลให้ประชากรมากกว่า 200,000 คน ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงต้องอพยพหนี

ส่งผลกระทบทำให้ธนาคารโลกเกิดความเสียหายระหว่าง 122,000 ถึง 235,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงประกาศว่า มูลค่าความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิมีมูลค่าสูงถึง 309,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากเหตุการณ์นี้ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 9,408 ราย สูญหาย 14,716 ราย ได้รับบาดเจ็บ 2,746 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก

แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ปี2011
ภากจาก : Earthquake

5. ประเทศรัสเซีย คาบสมุทรคัมชัตกา วันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1952 แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์

แผ่นดินไหวนี้เกิดขึ้นตามเวลาท้องถิ่น 04.58 น. ที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรคัมชัตกา ในประเทศรัสเซีย ซึ่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปถึงใต้ทะเลราว 30 กม. ได้วัดขนาดการสั่นสะเทือนที่ 8.2 ริกเตอร์

ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ภูมิภาคคัมชัตกา และเกาะคูริล คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีความสูงกว่า 9 เมตร และส่งผลไปถึงรัฐฮาวายของอเมริกาซึ่งสร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย นอกจากนี้ยังเคลื่อนตัวไปถึงรัฐอลาสก้า ชิลี และนิวซีแลนด์อีกด้วย

แผ่นดินไหวที่รัสเซีย ปี1952
ภาพจาก : Earthquake

วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวและภัยสึนามิ

7 วิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว

  1. ติดตามรับฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมการอพยพไปยังจุดที่ปลอดภัย
  2. หมอบลงในพื้นใต้โครงสร้างอาคารที่แข็งแรง เพื่อป้องกันสิ่งของบนเพดานหรือสิ่งอันตรายหล่นใส่ กรณีอาศัยอยู่ภายในบ้าน
  3. รีบปิดแก๊สทันที หากเปิดแก๊สประกอบอาหารอยู่
  4. ห้ามใช้ลิฟท์ ให้ใช้ทางหนีไฟอพยพออกจากพื้นที่
  5. ออกห่างจากหน้าต่างและประตูที่เป็นกระจก เพื่อป้องกันอันตราย
  6. อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณา หรือเสาไฟฟ้าอยู่รอบ ๆ
  7. เตรียมสิ่งของจำเป็นให้พร้อม เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาอาการประจำตัว ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือที่ชาร์ตแบตเตอรี่เต็ม น้ำดื่ม เป็นต้น

วิธีเอาตัวรอดจากภัยสึนามิ

กรณีอยู่บนเรือ หากเรืออยู่ห่างจากชายฝั่งให้พยายามนำเรือเคลื่อนที่ออกจากฝั่งไปกลางทะเล

กรณีอยู่บนชายหาด หากรู้สึกว่าแผ่นดินสะเทือนให้รีบออกจากชายฝั่งโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากหนีไม่ทันให้ปีนขึ้นต้นไม้ที่สูงที่สุด และหากรู้สึกว่ากำลังจะจมน้ำให้หาสิ่งที่ลอยน้ำได้และเกาะไว้ให้แน่น

กรณีอยู่ภายในอาคาร ที่พักอาศัย หากอยู่ในพื้นที่อาศัยให้ปฏิบัติตามแผนอพยพ หรือหากอยู่ในโรงเรียนให้ฟังคำเตือนของเจ้าหน้าที่หรือคุณครู

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : National Geographic ฉบับภาษาไทย , AnamaiMedia , สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต

Sarocha Somboo

นิวค่ะ นักเขียนที่ Thaiger มาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เอกภาพยนตร์และการถ่ายภาพ มีความเชี่ยวชาญในหัวข้อบันเทิงเกาหลี ด้านแฟชั่นความสวยความงาม และทุกเรื่องราวไลฟ์สไตล์ เขียนบทความออกมาได้อย่างบันเทิง อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button