อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

ทำไมต้องนางนพมาศ หญิงงามประจำวันลอยกระทง ผู้ริเริ่มกระทงดอกบัวสุดประณีต

“นางนพมาศ” ชื่อนี้ได้ยินแล้วนึกถึงอะไรกันเอ่ย? เดาว่า “ลอยกระทง” คงโผล่มาในหัวแบบไม่ต้องคิดนาน แล้วมีใครเคยสงสัยไหมว่า นางนพมาศเป็นใคร เกี่ยวข้องอะไรกับวันลอยกระทง

วันลอยกระทง เทศกาลที่มาพร้อมกับภาพการประกวด “หญิงงามถือกระทงห่มสไบ” แท้จริงแล้ว นางนพมาศ จากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่เราเคยเจอในบทเรียน เธอคือเป็นผู้พลิกโฉมกระทงใบตองที่เราคุ้นตาจากความคิดสร้างสรรค์และฝีมืออันประณีต

ประวัตินางนพมาศ เอกลักษณ์เคียงคู่วันลอยกระทง

หากถามถึงนางนพมาศตัวจริง ตามเนื้อหาในหนังสือ “เรื่องนางนพมาศ” หรือ “เรวดี นพมาศ” และ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” แต่งโดยพระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 3) กล่าวว่า นางเป็นบุตรธิดาของพราหมณ์ในราชสำนัก ยุคพระยาเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 1805 – พ.ศ. 1842)

นางรับราชการเป็นพระปุโรหิตตำแหน่งพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ กับมารดาชื่อนางเรวดี ทำให้นางนพมาศมีอีกชื่อที่ตั้งตามชื่อมารดาว่า “นางเรวดีนพมาศ”

นางนพมาศเกิดในครอบครัวพราหมณ์ปุโรหิตประจำวังหลวง จึงเพียบพร้อมไปด้วยกิริยามารยาทชั้นสูง และเฉลียวฉลาดด้วยองค์ความรู้จากในวัง ทั้งเรื่อง อักษรศาสตร์ พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การช่างของสตรี ตลอดจนการขับร้องดนตรี

ด้วยรูปกายภายนอกของนางนพมาศที่งดงามประจักษ์ จึงได้เข้ารับราชการในสมัยพระยาลิไท หาได้ยากนักสำหรับสตรีที่มีความไหวพริบดี วางตัวเป็น หน้าตาสะสวยทุกกระเบียดนิ้ว จนบิดาของนางถวายตัวนางให้แก่พระร่วงเจ้า และถูกแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกในตำแหน่ง “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” นั่นเอง

ทำไมต้องเป็นนางนพมาศ

ความสามารถอันครบเครื่องของนางนพมาศ

‍ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอนที่นางนพมาศได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งใหญ่โต นางใช้ความสามารถด้านการเขียน ถ่ายทอดหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการ ใช้ชื่อ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เพื่อเป็นคู่มือสำหรับสนมกำนันในราชสำนัก จนได้รับการยกย่องให้เป็น “กวีหญิงคนแรกของไทย” โดยเนื้อหามีใจความว่า

“ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูป และแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน”

ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

นางนพมมาศ กับจุดเริ่มต้นจากโคมลอยสู่กระทงดอกบัว

มาถึงจุดเริ่มต้นระหว่างนางนพมาศกับกระทงดอกบัว งานฝีมือระดับชาววังที่ริเริ่มด้วยความสร้างสรรค์ร่วมกับความสามารถส่วนพระองค์ มีบันทึกพงศาวดารกล่าวว่า งานประดิษฐ์ของนางเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงเจ้าและเหล่าข้าราชบริพาน ดังนี้

“ภายหลังที่นางนพมาศได้เข้าวังได้เพียง 5 วันเท่านั้น เมื่อถึงวันพระราชพิธีจองเปรียญลอยพระประทีป นางได้คิดประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบาน ซึ่งมีนกเกาะดอกไม้สีสวยงามต่างๆ กัน และนำไปถวายแก่พระร่วงเจ้า จึงทำให้พระองค์พอพระทัยและเป็นที่โปรดปรานอย่างมาก

ในเดือนที่ห้าของปี มีพิธีคเชนทร์ศวสนานหรือพิธีชุมนมข้าราชการทั่วทุกหัวเมือง ทางพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงต้อนรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู ซึ่งนางนพมาศก็ได้คิดประดิษฐ์หมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้ที่มีความงดงามอย่างมาก ด้านข้าราชบริพารที่ชื่อชอบ และพระร่วงเจ้าซึ่งโปรดปรานอย่างมากได้รับสั่งว่า หากผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น เป็นแบบอย่างในการทำงานมงคล ด้วยเหตุนี้งจึงเกิดเป็นพานขันหมากเวลาแต่งงานที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อครั้งที่พระร่วงเจ้าจะทำการบูชาพระรัตนตรัย นางนพมาศก็ได้คิดประดิษฐ์พนมดอกไม้ที่มีความวิจิตร และอ่อนช้อยงดงามถวายพระร่วงเจ้าเพื่อสักการะพระรัตนตรัย จึงทำให้ท่านทรงพอพระทัยและโปรดปราน ตรัสสั่งว่า แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้”

พิธีจองเปรียญ ละครพรหมลิขิต

ในอดีตประเพณีลอยกระทงเคยมีชื่อว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” เป็นการปล่อยโคมไฟเพื่อบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษที่ล่วงลับ นางนพมาศในตำแน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ต่อยอดรูปลักษณ์จากโคมรูปบัวกมุทบาน ที่เคยทำถวายพระร่วงเจ้าเปลี่ยนเป็น กระทงดอกบัว แทนการลอยโคม ถูกกล่าวถึงหลักฐานพงศาวดารดังนี้

“ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย”

จากนั้นเมื่อพระร่วงเจ้าเสด็จผ่านน่านน้ำ ได้ทอดพระเนตรเห็นกระทงรูปลักษณ์แปลกตาของนางนพมาศ จึงได้สั่งให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทุกปีแทนการลอยโคม ตามพระราชดำรัสที่ว่า

“ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน”

เป็นจุดเริ่มต้นของพิธีลอยกระทงในคืนวันเพ็ญเดือน 12 ตั้งแต่นั้นมา จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีนางนพมาศ ยิ่งภาพจำในการประกวดนางนพมาศทำให้เราเห็นว่า นางเป็นผู้มีบุคลิกงดงาม ผิวนวลผ่องดั่งจันทร์วันเพ็ญ และถูกยกย่องให้เป็นสตรีผู้เคียงคู่ประเพณีอันดีงามของไทยตลอดไป

นางนพมาศ

ขอบคุณภาพและข้อมุลจาก : 1,2,3,4

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

Peangaor

นักเขียนประจำ Thaiger จบการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มศว เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาชี้แจงแตกประเด็นในรูปแบบย่อยง่ายเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง รวมถึงเรื่อง Pop culture ซีรีส์ อาหาร และเทรนด์แฟชั่นที่กำลังอินเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ preme@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button