Line Newsไลฟ์สไตล์

พกปืนปากกาซัลโว อาวุธไทยประดิษฐ์ด้ามโลหะ ผิดกฎหมายไหม

เปิดความผิดทางกฎหมาย พกปืนปากกาไทยประดิษฐ์ สามารถเข้าโรงเรียนหรือพื้นที่สาธารณะผิดกฎหมายจำคุกและปรับเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่บ้าง พร้อมเงื่อนไขบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ทำความรู้จักนวัตกรรมอาวุธฉบับดีไอวายที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เผยความอันตรายสาเหตุที่ต้องระวังปืนปากกากรณีข่าวสลด นักเรียนอาชีวะ ปวช.ปี 2 อายุ 16 ปี ถูกคู่อริใช้ปืนปากกาซัลโวยิงเสียชีวิต

รู้ไว้ไม่ก่อเหตุ พกปืนปากกาในที่สาธารณะ ผิดกฎหมายมาตราใด

สำหรับกฎหมายความผิดเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 หรือ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 7 อ้างอิงตาม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุข้อกำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำ มี ซื้อ ใช้ สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่

หากผู้ใดมีหรือครอบครองอาวุธปืน เช่น ปืนปากกา หรือ ปืนไทยประดิษฐ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่จะต้องมีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท

ความผิดฐานพกพาอาวุธปืนนั้น เป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดพกพาอาวุธปืนติดตัวไป เช่น พกปืนปากกาติดตัวไปในทางสาธารณะหรือเข้าห้างสรรพสินค้า หรือพกไปยังโรงเรียน หรือแม้กระทั่งเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนและถูกกฎหมาย เช่น เป็นอาวุธปืนของบิดาหรือผู้ปกครอง นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีติดตัวแล้ว ก็มีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดข้อหาพกพาอาวุธปืนนั้น หากพกพาโดยเปิดเผย เช่น ถืออาวุธปืนหรือเหน็บที่เอวกางเกงซึ่งผู้อื่นสามารถเห็นได้ หรือพกพาไปในชุมนุมชนที่จัดให้มีขึ้น เพื่องานนมัสการ งานรื่นเริง หรืองานมหรสพผู้ที่พกพาดังกล่าว จะต้องรับโทษหนักขึ้น คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาทถึง 10,000 บาท

ถึงแม้ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีอาวุธปืนติดตัว แต่ปรากฏว่าผู้นั้นพกพาอาวุธปืน โดยเปิดเผย หรือพกพาไปในชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล งานนมัสการ งานรื่นเริงหรืองานมหรสพ ผู้นั้นก็ยังมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั่นเอง

พกปืนปากกาซัลโว ผิดกฎหมายไหม โทษปรับ

ปืนปากกาไทยประดิษฐ์ คืออะไร

สำหรับที่มาของ ปืนปากกาไทยประดิษฐ์ คือ นวัตกรรมอาวุธที่ดัดแปลงจากปากกาที่มีด้ามทำจากวัสดุโลหะ หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า ปืนปากกาซัลโว ด้วยการดึงไส้ปากกาออกก่อนจะพิ่มกลไกอื่น ๆ และนิยมทำเป็นปืนไทยประดิษฐ์รูปแบบหักลำให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับอาวุธปืนของจริง โดยมีระดับอานุภาพตั้งแต่ทำให้ร่างกายบาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงทำให้เสียชีวิตได้เลยหากเล็งยิงโดนจุดสำคัญของร่างกาย

ปืนไทยประดิษฐ์ จัดว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในสมัยก่อน โดยชาวบ้านได้ดัดแปลงโลหะให้ยิงกระสุนได้สำหรับล่าสัตว์ หรือไล่สัตว์ที่มากินพืชผลเกษตร จากนั้นได้มีการดัดแปลงแก้ไขจนต่อยอดมาเป็นรูปแบบเป็นลำกล้องปืน ใช้ในการป้องกันตัวและอาวุธอันตรายได้เช่นกัน

ในส่วนของราคาของปืนปากกาไทยประดิษฐ์ในตลาดมืด มักมีราคาตั้งแต่ 300 บาท ไปจนถึง 1,000 บาทขึ้นไป มีวิธีการใช้ปืนปากกาแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการประดิษฐ์ปืนแต่ละแบบ ส่วนมากนิยมใส่ขนาดลูกกระสุน .22 หรือ .38 ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอาวุธปืน สร้างความอันตรายร้ายแรงที่ถึงแก่ชีวิตได้นั่นเอง

ทั้งนี้ ปืนปากกา หรือ ปืนไทยประดิษฐ์ มักถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนว่าเป็นอาวุธเถื่อนที่พบหลักฐานการใช้งานส่วนมากในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ เพื่อนำไปใช้เป็นอาวุธทำร้ายคู่กรณีต่างสถาบัน หรือ การทะเลาะกันส่วนตัวระหว่างสถาบัน

พกปืนปากกาซัลโว ผิดกฎหมายไหม 2566

การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน

กรณีที่ต้องการพกอาวุธปืนฯ จำเป็นต้องออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน แบบ ป.4 ด้วยการติดต่อไปยัง ศูนย์บริการประชาชน (วังไชยา) กรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัดตรงที่ทำการปกครองอำเภอ ด้วยต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. ใบอนุญาต ให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ของผู้โอนที่นายทะเบียนท้องที่ลงนามสลักหลังตัดโอนใบอนุญาต (กรณีขอรับโอนอาวุธปืนหรือรับโอนมรดกต่างท้องที่)

3. หนังสือแจ้งการจำหน่ายทะเบียนอาวุธปืน (แบบ ก) (กรณีขอรับโอนอาวุธปืน หรือรับโอนมรดก ต่างท้องที่)

4. ใบคู่มือประจำปืน (กรณีซื้ออาวุธปืนจากร้านค้าต่างท้องที่)

5. อาวุธปืน

6. ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) ของผู้รับใบอนุญาตที่นายทะเบียนท้องที่ที่หน่วยงานจัดทำโครงการสวัสดิการตั้งอยู่ลงนามสลักหลังตัดโอนใบอนุญาต แล้ว (กรณีซื้ออาวุธปืนจากโครงการจัดหาอาวุธปืนเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการ)

7. ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) ของผู้รับใบอนุญาต ที่ร้านค้าอาวุธปืนได้ระบุรายละเอียดการจำหน่ายไว้ที่ด้านหลังใบอนุญาตแล้ว (กรณีซื้ออาวุธปืนจากร้านค้าอาวุธปืนในเขตท้องที่)

สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข (ถ้ามี) ในการยื่นคำขอ และในการพิจารณาอนุญาตตามที่ระบุ ได้แก่

1. เป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ซื้อหรือรับโอนอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.3) จากนายทะเบียนท้องที่และได้ซื้ออาวุธปืนจากร้านค้า/จากหน่วยราชการ/เจ้าของโครงการจัดหาอาวุธปืนสวัสดิการ /รับโอนอาวุธปืนระหว่างบุคคล โดยมีหลักการ ดังนี้

1.1 มีใบคู่มือประจำปืน (ปืนร้านค้า)

1.2 มีเอกสารการสลัก ป.3 (ปืนสวัสดิการ)

1.3 มีเอกสารการสลักหลังตัดโอนอาวุธปืน (ปืนรับโอน)

2. นำอาวุธปืนและเอกสารตามข้อ 1.1 หรือ1.2 หรือ1.3 มาพบนายทะเบียนที่ออกใบอนุญาต (แบบ ป.3)

3. นายทะเบียนได้ตรวจอาวุธปืนและหลักฐานแล้ว เห็นว่าถูกต้อง จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและออกใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) บันทึกในสมุดคุมทะเบียนอาวุธปืนประจำตำบลแจ้งนายทะเบียนท้องที่ปลายทางทราบตามแบบ ข. แล้วมอบใบอนุญาตให้กับผู้ขอ

4. กรณีมาดำเนินการด้วยตนเองไม่ได้ และมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนจะต้องมีบันทึกของนายทะเบียนท้องที่ในใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งของนายทะเบียนท้องที่ตามข้อ 17 ของคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 674/2490

ทั้งนี้ปืนปากกาไทยประดิษฐ์ได้กลับมาเป็นกระแสข่าวสังคมอีกครั้ง กรณีเกิดเหตุอาชญากรรมนักเรียนยิงกันเสียชีวิตภายในซอยระนอง 2 บริเวณทางเท้าตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลกรแก้ว แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พื้นที่ สน.ดุสิต เสียชีวิต 1 ราย เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566

ส่งผลให้ทาง ร.ต.ท.ธีระกิตติ์ ธีระบัญชร รอง สว.(สอบสวน) สน.ดุสิต ได้เดินทางไปตรวจสอบพร้อมด้วย พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ เสยกระโทก รอง ผกก.สน.ดุสิต, พ.ต.ท.ภาคิน สิริปุณยาพร สวป.สน.ดุสิต เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แพทย์เวร รพ.รามาธิบดี และเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ลงพื้นที่ตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุพบศพ เยาวชนอายุ 16 ปี นักเรียนอาชีวะ ปวช.ปี 2 วิทยาลัยเทคนิคดุสิต สภาพนอนหงายหายใจรวยริน มีบาดแผลถูกยิงเข้าที่หน้าอก ใกล้กันพบปืนปากกา 1 กระบอก ยาว 25 ซม. ล่าสุดเจ้าหน้าที่วิทยุสกัดจับแต่ยังไร้วี่แวว อยู่ระหว่างตรวจสอบวงจรปิดตามเส้นทาง เพื่อติดตามกลุ่มคนร้ายมาสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปนั่นเอง ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยและการตรวจสอบอาวุธปืนจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยว่าจะมีมาตรการระวังภัยและป้องกันเหตุอย่างไรบ้าง

อ้างอิง : กรมการปกครอง ประเทศไทย, พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button