หมอเตือน โรคปอดรั่ว หากเกิดกับคนอายุน้อย อันตรายถึงขั้นคร่าชีวิต

ระวังให้ดี หมอหมู วีระศักดิ์ เตือน โรคปอดรั่วในคนอายุน้อย อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต เช็คสัญญาณเตือน พร้อมรับมือโรคร้ายที่กำลังคืบคลานเข้ามา
หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้โพสต์ผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ เตือนภัย โรคปอดรั่วในคนอายุน้อย อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พร้อมบอกสัญญาณเตือนของร่างกาย วิธีรักษา และการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเอง
โรคปอดรั่ว หรือโรคปอดทะลุ (Pneumothorax) คือ ภาวะที่ถุงลมในปอดแตก ทำให้อากาศรั่วเข้าไปแทรกอยู่ในช่องอกจนเบียดเนื้อปอดและหัวใจ ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการหายใจ เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เพราะภาวะดังกล่าวอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
สัญญาณเตือนโรคปอดรั่ว
สัญญาณเตือนของโรคปอดรั่วในคนอายุน้อย คือ อาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน ร่วมกับอาการไอแห้ง ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ โดยภาวะปอดรั่ว แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. ภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเองแบบปฐมภูมิ (Primary Spontaneous Pneumothorax) เป็นโรคปอดรั่วในคนที่ไม่ได้มีตัวโรคที่เนื้อปอดโดยเฉพาะ มักเกิดในผู้ป่วยที่อายุ 18 ปี ขึ้นไปจนถึง 30 ปี ในช่วงวัยรุ่นที่ผอมสูงโตเร็วมักพบว่ายอดปอดส่วนบนเป็นถุงลมโป่งพองเฉพาะจุด ซึ่งปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่มีข้อมูลว่าอาจเกิดจาก
- พันธุกรรม
- ปอดกับช่องอกขยายตัวเติบโตไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ยอดปอดเกิดถุงลมโป่งพอง
- ภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ มีชื่อเรียกเฉพาะว่าโรคลมรั่วตามรอบเดือน (Catamenial Pneumothorax) เป็นภาวะที่มีเซลล์เยื่อบุมดลูกฝังในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วในขณะที่มีประจำเดือน พบได้ไม่บ่อยแต่ต้องไปรับการผ่าตัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน
2. ภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเองแบบทุติยภูมิ (Secondary Spontaneous Pneumothorax) มักเกิดกับคนที่อายุมากกว่า 60 ปีที่สูบบุหรี่จัด และเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคปอดอยู่แล้ว ซึ่งมักพบว่าถุงลมโป่งพองจะเป็นกระจายไปทั่ว เมื่อแตกออกมาลมรั่วเข้าช่องอก
โอกาสเกิดโรคดังกล่าวอยู่ที่ 24/100,000 คนต่อปีในผู้ชาย และ 10/100,000 คนในผู้หญิง ปัจจัยสนับสนุนหลักคือ การสูบบุหรี่ ซึ่งเพิ่มโอกาสเป็น 22 เท่าในผู้ชาย และ 8 เท่าในผู้หญิง อัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคนี้อยู่ที่ 35%
อัตราการเสียชีวิตจากภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเองนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ ลักษณะ และการรักษาของภาวะนี้ โดยอัตราการเสียชีวิตจาก
- ภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเองแบบปฐมภูมิ ประมาณ 1.26%
- ภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเองแบบทุติยภูมิ ที่มีโรคปอดอยู่ก่อนนั้นสูงขึ้นมาก ประมาณ 11.45%
การตรวจรักษาภาวะปอดรั่ว มี 2 วิธี คือ
- เอกซเรย์พบลมรั่วออกมาที่ช่องอก แต่ยังไม่เห็นรูรั่วที่ปอด ต้องผ่าตัดใส่สายระบาย 3 – 7 วัน รูรั่วสามารถหายไปได้เองเหมือนแผลถลอก เมื่อไรที่เป็นซ้ำจึงจะทำการผ่าตัด แต่ปัญหาคือโอกาสเป็นซ้ำสูงถึง 35%
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) พบลมรั่วออกมาที่ช่องอก และพบรูรั่วที่ปอด ต้องผ่าตัดเปิดช่องทรวงอกเพื่อทำการเย็บซ่อมแซม
วิธีป้องกันภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเอง
- งดสูบบุหรี่ หรือลดปริมาณการสูบบุหรี่ลง เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดถุงลมที่ปอดมากขึ้น และเสี่ยงเกิดการแตกและรั่วได้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ทำให้หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อยมาก เช่น วิ่งมาราธอน หรือดำน้ำลึก เพราะอาจทำให้มีแรงดันอากาศในปอดเพิ่มขึ้นและทำให้ถุงลมที่ปอดแตกได้
- หากมีโรคปอดอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเองแบบทุติยภูมิ เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือปอดวัณโรค ควรได้รับการรักษาโรคนั้นให้หาย หรือควบคุมอาการได้ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเองแบบปฐมภูมิ
- หากเคยเกิดภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเองแบบปฐมภูมิมาก่อน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง