ข่าวข่าวการเมือง

ชาวเน็ตเสียงแตก ‘ดร.เอ้’ แนะติวเข้มตั้งแต่อนุบาลสู้กับชาติอื่น ล่าสุดอธิบายเพิ่มแล้ว

ชาวเน็ตเสียงแตกหลัง ดร.สุชัชวีร์ หรือ ดร.เอ้ แนะติวเข้มตั้งแต่อนุบาล ต้องไม่อ่อนแอด้านใดด้านนึง เพื่อสู้กับชาติอื่น ล่าสุดอธิบายเพิ่มแล้ว

กลายเป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากที่ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “เด็กไทยต้องเรียน วิทย์ คณิต ภาษา และ ศิลปะ ตั้งแต่อนุบาล ต้องไม่อ่อนแอด้านใดด้านหนึ่ง จึงจะสามารถสู้กับชาติอื่นได้”

โดยความเห็นดังกล่าวได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก โดยชาวเน็ตมองว่าแบบนี้จะทำให้เด็กอนุนาลเรียนหนักเกินไป และหวั่นว่าจะส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจเด็ก พร้อมชี้ว่าช่วงเวลานี้ควรจะให้วิ่งเล่นและได้เรียนรู้ถึงความชอบมากกว่า ขณะที่ชาวเน็ตอีกส่วนก็เห็นด้วยความเห็นของ ดร.เอ้

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ดร.เอ้ ได้โพสต์อธิบายเพิ่มเติมว่า “”การเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ไม่ง่าย ต้องใช้วิสัยทัศน์ และความกล้าหาญ”

ผมดีใจมาก ที่มีประเด็นข้อสงสัย และมีการถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง เรื่องการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ทำให้ผมฉุกคิดถึงอุปสรรคการพัฒนาเด็กไทย จะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรม ไม่ตามใจคน จนเด็กเสียโอกาส ชาติแข่งขันไม่ได้ และไม่เพ้อฝัน

ท่านคงเคยได้ยินเรื่อง “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายไป” หรือ “ทักษะเด็กยุคศตวรรษ 21” หรือ “ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย” ทุกเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน คือ วิสัยทัศน์ “การสร้างคน สร้างชาติ สร้างอนาคต”

ผมทั้งในฐานะเด็กต่างจังหวัดที่ผ่านอุปสรรคเรื่องการเรียนมาอย่างโชคโชน ในฐานะครูผู้ใกล้ชิดกับเด็กรุ่นใหม่ ในฐานะนักวิชาการที่เดินทางทำงานวิจัยไปทั่วโลก ในฐานะวิศวกรอาชีพที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมาก ในฐานะคนทำงานการเมืองที่ได้เห็น และพอเข้าใจเรื่องความขัดแย้งทางความคิด

และที่สำคัญที่สุดคือ ในฐานะของพ่อของลูกปฐมวัย หรือวัย 0-6 ขวบ ที่น่ารัก จึงน่าจะมีประสบการณ์พอ ที่จะแชร์ “วิสัยทัศน์” และ “ความห่วงใยการศึกษาของเด็กไทย” อย่างจริงใจ และตรงไปตรงมา ที่อาจหาได้ยากยิ่ง ในยุคโซเซียลมีเดีย

เราลองมา เปิดใจ ถาม-ตอบ ทีละขั้น กันดีไหมครับ

คำถาม :
1. การสร้างคนเก่งและคนดีในสังคม ควรสร้างในวัยใด ถึงเกิดผลมากที่สุด
ตอบ : “วัยเด็ก หรือ ปฐมวัย” ช่วงตั้งแต่เกิดถึง “อนุบาล” ก่อนถึงระดับประถม ใช่ไหมครับ

คำถาม :
2. เมื่อเด็กวัยอนุบาลสำคัญที่สุด แล้วเราควรพัฒนาเขาอย่างไร
ตอบ : สร้างตาม “ทักษะเป้าหมายในโลกอนาคต” ไม่ใช่แค่ปัจจุบัน เพราะเขาต้อง “อยู่รอดในอนาคต” ไม่ใช่แค่ปัจจุบัน จริงไหมครับ

สุชัชวีร์ ผู้ว่า กทม

คำถาม :
3. แล้วทักษะ การเรียนรู้ เพื่ออยู่รอดในอนาคต คืออะไร
ตอบ : อย่างน้อยที่สุด เบื้องต้นเท่านั้น เด็กต้องมีทักษะ 4 ด้าน ดังนี้
1). “ทักษะทางคณิตศาสตร์” เด็กต้องพัฒนาตรรกะ เพื่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ปัญหาซับซ้อนเชิงตัวเลข ของโลกอนาคต

2). “ทักษะทางวิทยาศาสตร์” เด็กต้อง “เข้าใจธรรมชาติ” รู้จักตั้งคำถาม รู้จักความเป็นเหตุเป็นผลและรู้จักกระบวนการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างมีเหตุผล

3). “ทักษะด้านภาษา” แม้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะช่วยลดข้อจำกัดด้านภาษา แต่ทักษะภาษายังจำเป็นสำหรับเด็ก เพราะการเรียนภาษาคือ การสร้างความเข้าใจ ในวัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละชนชาติ และเป็นการฝึกฝนการจดจำในวัยเด็ก

4) “ทักษะด้านศิลปะ” มักถูกละเลย ทั้งที่ศิลปะและดนตรี เป็นเครื่องมือสำคัญให้เด็ก มีความอ่อนโยน มีความเห็นอกเห็นใจ และยังจำเป็นในโลกอนาคต ที่ทุกผลผลิตต้องคำนึงทั้งการใช้งาน และความสวยงาม ควบคู่กัน

ทักษะทั้ง 4 ด้านนี้ คือ การชี้ชะตาเด็ก ชี้ชะตาสังคม และชี้ชะตาโลกอนาคต หากไม่สร้างตั้งแต่วัยอนุบาล ย่อมสายเกินไป และไม่มีทางกลับมาแก้ไขได้ จริงไหมครับ

คำถาม :

4. การให้ลูกเล่น เล่น เพราะการเรียน คือ ยาขม ทำให้เด็กเครียด จริงหรือ
ตอบ: ไม่จริง มันคนละเรื่องกัน ผมก็ให้ลูกเล่น และเล่นกับลูก ลูกมีความสุข โรงเรียนก็ต้องให้เด็กเล่น เหมาะสมตามวัย “แต่การเล่นแบบไร้เป้าหมาย เล่นแบบปล่อย ไม่เน้นสร้างทักษะ นอกจากสูญเสียโอกาสทอง ยังอาจมีความเสี่ยงต่อตัวเด็ก ต่อเนื่องถึงอนาคต”

ต้องเน้น “การเรียนรู้ พร้อมการเล่น พร้อมสร้างทักษะ” เด็กเล็กเรียนรู้จากการเห็น การอ่าน การสัมผัส ดังนั้นการนับและฝึกแยกแยะสิ่งของ คือ ทักษะคณิตศาสตร์ การเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว คือ ทักษะวิทยาศาสตร์ การวาดระบายสี คือ ทักษะศิลปะ การถามตอบ คือ ทักษะภาษา
เด็กเล็กจะต้องเรียนรู้ทุกทักษะไปพร้อมกัน โดยต้องไม่ถูก “ปล่อยให้เล่นโดยไร้เป้าหมาย”
ทักษะเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเด็กเอง โรงเรียน ครู และพ่อแม่ต้องวางแผนการสอน ถึงจะเกิดขึ้น จริงไหมครับ

คำถาม :
4. แล้ว 1). รัฐบาล 2). โรงเรียนและครู 3). พ่อแม่ควรมีบทบาทอย่างไร ในการพัฒนาเด็กเล็ก
ตอบ :
1). “รัฐบาล” ควรสนับสนุน การเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพที่สุด ในวัยอนุบาล ทั้งส่งเสริมการพัฒนาครู ที่มีทักษะแห่งอนาคต พร้อมเพื่อสอนเด็ก สนับสนุนการอ่านเต็มรูปแบบ หนังสือต้องทันสมัย สนุก ได้ความรู้ ทั่วถึง และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน ให้พอเพียง ไม่ต้องแพง แต่เกิดประโยชน์ตรงเป้าหมาย

2). “โรงเรียนและครู” ควรบริหาร “ทรัพยากรหรือต้นทุน” ที่อาจมีอยู่ไม่เท่ากันของเด็กแต่ละคน ให้เด็กพัฒนาทักษะได้ครบ ได้เต็มศักยภาพ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดมากมาย ครูไทยจึงเป็นอาชีพที่น่าเห็นใจ และน่ายกย่องมากที่สุด
ความสำเร็จของเรื่องนี้ อยู่ที่ระบบการพัฒนาครูที่ทันสมัย ต่อเนื่อง และระบบผลตอบแทนที่สามารถดึงดูดคนเก่งคนดี

3). “พ่อแม่” คือ ปัจจัยที่สำคัญ แต่เปราะบางที่สุด เพราะรัฐบาลไทยใครก็ไม่กล้าหาญพอ ที่จะก้าวล่วงไปถึงระดับครอบครัว ไม่เหมือนหลายชาติที่พัฒนา ที่มีจุดยืนชัดว่า ถึงแม้เป็นลูกคุณ แต่ลูกคุณ คือคนของชาติ รัฐบาลจึงมีหน้าที่โดยชอบธรรม ติดตาม ดูแล หรือกำกับ ถึงบ้านคุณ แบบนี้คนไทยจะยอมไหม คงไม่ยอม ใช่ไหมครับ

ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลสนับสนุนการศีกษาเต็มที่ โรงเรียนและครูทำหน้าที่สมบูรณ์แบบ แต่พ่อแม่ละเลยลูก ผลลัพธ์คงไม่สมบูรณ์ จริงไหมครับ

ผมเข้าใจว่า พ่อแม่ไทยมีข้อจำกัดเยอะ ทั้งเวลา ทั้งเงิน ทั้งความเครียด แม้ผมจะแสดงจุดยืนชัดว่า พ่อแม่ คือ คนที่สำคัญที่สุด ในการสร้างทุกทักษะการเรียนรู้ ให้ลูก แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่พอทำได้ คือ รัฐ โรงเรียน และครู จึงต้องมีบทบาทมากกว่าปกติ ในการพัฒนาเด็กไทย ดังนั้น ผู้นำรัฐบาลไทยจึงต้องรับภาระนี้ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ผมหวังว่า ท่านที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับผม จะอ่านถึงบรรทัดนี้ เพราะผมพยายามเขียนให้สั้นที่สุด เพราะวิสัยทัศน์ คือ การมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หรือคนอื่นอาจไม่มีวันเข้าใจได้เลย

ดังนั้น ผมขอให้กำลังใจ ผู้นำที่กล้าหาญ จงอย่าเสียกำลังใจ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย จงมุ่งทำต่อไป วันหนึ่งคนจะได้เห็นเอง เมื่อมันเกิดขึ้นจริง”

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button