อาหารไลฟ์สไตล์

จริงหรือ หมูกระทะไทยมีต้นกำเนิดจากหมูย่างเกาหลี เปิดต้นตำหรับเมนูสุดฮิตชาวไทย

เปิดที่มาเมนูสุดฮอตฮิตตลอดกาล จริงหรือไม่ “หมูกระทะไทย” มีต้นกำเนิดจากประเทศ “เกาหลีใต้”

เมนูแสนอร่อยที่หลายคนติดอกใจ “หมูกระทะ” ไม่ว่าจะบ้าน ๆ หรือโอกาสไหน ๆ ความอร่อยของหมูกระทะก็ครองใจทุกเพศทุกวัยได้อย่างอยู่หมัดมาเสมอ จนแทบจะกลายเป็นเมนูอาหารประจำชาติไปเสียแล้ว เพราะไม่ว่าจะนักท่องเที่ยวชาติใดหากมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้วนั้น ถ้าไม่ได้ลิ้มรสชาติหมูกระทะสไตล์ไทยก็เหมือนว่ายังมาไม่ถึง

เช่นเดียวกับในกรณีล่าสุดที่ ‘แบคจงวอน’ เชฟชาวเกาหลีชื่อดังแห่งรายการ Baek Jong won’s Alley Restaurant ได้เดินทางมาถ่ายทำรายการยูทูบที่ประเทศไทย พร้อมลิ้มรสชาติความอร่อยของ “หมูกระทะ” สุดเลื่องชื่อที่ทุกคนต่างชื่นชอบ แต่แล้วคลิปจากรายการ 배고파 방콕 EP.08 กลับกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากประโยคที่ว่า “คนกรุงเทพฯ ทุกคนครับ ได้ยินมาว่าหมูกระทะเริ่มมาจากที่เกาหลีเหรอครับ ผมต้องใช้โอกาสนี้บอกวิธีทานหมูย่างที่ถูกต้องแบบเกาหลีหน่อยแล้วล่ะครับ วันนี้เราจะไม่นั่งอยู่กับที่ครับ! ทุกคนช่วยยืนดูเลยนะครับ”

เพียงประโยคสั้น ๆ ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงถึงที่มาของเมนู “หมูกระทะ” อยู่ไม่น้อย แท้จริงแล้วจุดกำเนิดของหมูกระทะที่คนไทยคุ้นเคยกันนั้น มีที่มาจากประเทสเกาหลีจริงหรือไม่ ร่วมหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับ Thaiger

จริงหรือ หมูกระทะไทยมีต้นกำเนิดจากหมูย่างเกาหลี

เปิดต้นกำเนิดความอร่อย เมนู “หมูกระทะ” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ต้นกำเนิดของหมูกระทะมีการสันนิษฐานว่า การย่างหมูบนกระทะนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยมองโกล โดยทหารมองโกลที่พักจากสงครามในสนามรบ ซึ่งได้เล่าต่อกันมาว่าในช่วงสงครามที่ทุกคนต่างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ การทำอาหารจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสะดวกเป็นสำคัญ

เช่นนั้นบรรดาทหารนักรบจึงนำหมวกเหล็ก (mongol Ancient military hat) มาใช้เป็นอุปกรณ์ในการย่างเนื้อกินแทนการใช้อุปกรณ์เครื่องครัว จากนั้นจึงเกิดเป็นข้อสันนิฐานถึงที่มาของกระทะรูปทรงโค้งที่นำมาใช้ในการย่างเนื้อ และเป็นต้นแบบของกระทะที่มีลักษณะโค้งมนตรงกลางอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่ว่า “หมูกระทะ” เกิดขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ. 1918 ที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงยุคสมัยที่ฮอกไกโดนิยมเลี้ยงแกะ โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำไปใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้เนื้อแกะล้นตลาด ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคเนื้อแกะให้มากขึ้นโดยการนำปิ้งย่าง และเกิดเป็นวัฒนธรรมการกิจที่แพร่หลายอย่างมากในขณะนั้น

หลังจากนั้นได้มีการบัญญัติการปิ้งเนื้อสัตว์กินในลักษณะนี้อย่างเป็นทางการว่าเป็น เนื้อย่างเจงกิสข่าน โดยนายโทคุโซะ โคมาอิ จากเกาะฮอกไกโด เหตุที่ใช้ชื่อนี้เพราะว่า วัฒนธรรมการกินในลักษณะนี้ได้แรงบันดาลใจจากการกินเนื้อย่างในแถบจีนตอนเหนือนั่นเอง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปรูปแบบการกินก็เริ่มปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการกินเนื้อแกะ เป็นเนื้อวัวและเนื้อหมูในเวลาต่อมา รวมถึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นการปิ้งย่างสไตล์ “ยากินิกุ”

ต้นกำเนิดหมูกระทะ

ในขณะเดียวกันก็เกิดอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่ว่า วัฒนธรรมการย่างเนื้อบนกระทะนั้นมีที่มาจากประเทศเกาหลี โดยในประเทศเกาหลีจะเรียกเมนูในลักษณะนี้ว่า “บูลโกกิ” และ “กาลบี้” ซึ่งเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (โดยเฉพาะในญี่ปุ่น) จวบจนถึงปัจจุบัน

จริงหรือ หมูกระทะไทยมีต้นกำเนิดจากหมูย่างเกาหลี

จุดเริ่มต้น “หมูกระทะ” ในประเทศไทย

ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมในด้านการกินเมนูหมูกระทะมาจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่า เริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. 2500 ในกลุ่มภัตตาคารที่คนในยุคสมัยนั้นเรียกกันว่า “เนื้อย่างเจงกีสข่าน” แต่สำหรับในภาคอีสานจะแตกต่างออกไป โดยจะเรียกว่า “เนื้อย่างเกาหลี” ซึ่งมีร้านต้นตำรับอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ในร้านที่ชื่อว่า “หมื่นทิพย์เนื้อย่างเกาหลี”

หมูกระทะ แบบไทย

แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดสามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า วัฒนธรรมการกินโดยการย่างเนื้อสัตว์บนกระทะที่ได้กลายมาเป็นเมนูหมูกระทะอย่างเช่นในทุกวันนี้ มีจุดกำเนิดมาจากในพื้นที่ใดหรือจากวัฒนธรรมของชนชาติใด หรือแท้จริงแล้วอาจเป็นไปได้ว่า “หมูกระทะ” ในประเทศไทยขึ้นเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมการกินเหล่านั้นเข้าด้วยกัน โดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการรับเอาวัมะนธรรมการกินจากชนชาติใดชนชาติหนึ่งมา

ต่อมาการส่งอิทธิพลด้านวัฒนธรรมการกินมายังประเทศไทยของเมนูหมูกระทะนั้นเกิดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินจากต่างชาติเหล่านั้นให้เข้ากับลักษณะการกินและรสชาติที่คนไทยคุ้นเคย จนได้กลายมาเป็นเมนูแสนอร่อยที่ครองใจทุกคนและโด่งดังไปทั่วโลกดังเช่นในทุกวันนี้

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button