ตร.ไซเบอร์ เตือนภัยผู้สูงอายุ หวั่นเจอมิจฉาชีพหลอกลงทุน สูญเงินหลักล้าน

ตำรวจไซเบอร์ ออกโรงเตือนผู้สูงอายุ หวั่นตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ทักแชทหาในโลกออนไลน์ หว่านล้อมให้ลงทุนจนเสียเงินหลักล้าน วอนบุตรหลานช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด
วันที่ 14 ตุลาคม 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีบุตรชายพาผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา อายุ 75 ปี เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หลังจากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงชักชวนให้ร่วมลงทุนในทองคำ สูญเสียเงินไปกว่า 18 ล้านบาท
การหลอกหลวงในลักษณะนี้ มิจฉาชีพจะทำทีเป็นพูดคุยเรื่องทั่วไปก่อนจนเหยื่อไว้ใจก็จะเริ่มชวนพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน โดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หรือ ตนเองมีรายได้จากการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ หวังดีอยากให้เหยื่อมีรายได้เพิ่ม จากนั้นจะชวนให้ลองลงทุนผ่านเว็บไซต์ หรือเเพลตฟอร์มการลงทุนปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา
ในช่วงเเรกเหยื่ออาจลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก ซึ่งจะได้รับผลตอบเเทนจริง แต่เมื่อเหยื่อใช้เงินลงทุนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่สามารถถอนเงิน หรือถอนกำไรออกมาใช้ได้ โดยมิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น แจ้งว่าอย่าเพิ่งถอนเงินรอจังหวะที่เหมาะสมก่อน และหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือหากจะถอนเงินดังกล่าวจะต้องโอนเงินค่าภาษี ค่าค้ำประกันต่างๆ เป็นต้น จนในที่สุด เหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกก็จะปิดช่องทางการติดต่อแล้วหลบหนีไป
จากสถิติศูนย์บริหารการรับจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – วันที่ 30 กันยายน 2566 พบว่า การหลอกหลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 27,509 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.20% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากการหลอกหลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ หลอกให้โอนเพื่อทำงาน และหลอกให้กู้เงิน มีมูลค่าความเสียหายกว่า 13,952 ล้านบาท คิดเป็นลำดับที่ 1 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด

การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โฆษก บช.สอท.กล่าวอีกว่า กรณีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว แม้ว่าจะมีผู้เสียหายในจำนวนที่น้อยกว่าการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นยังคงสูงเป็นอันดับแรกเสมอ จึงขอฝากประชาชนให้พึงระมัดระวังการรับเพื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ หากไม่ได้รู้จักผู้นั้นจริงอย่าได้รับเป็นเพื่อน หรือติดต่อพูดคุยเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบุคคลเพศตรงข้ามติดต่อมาพูดคุยตีสนิท แล้วชักชวนให้นำเงินมาลงทุน
มิจฉาชีพเหล่านี้มักใช้คำหวานเพื่อหลอกลวงเหยื่อ ใช้ประโยคสนทนาในการพูดคุยที่ผิดปกติ เหมือนมีการใช้โปรแกรมแปลภาษามาก่อน และมิจฉาชีพจะไม่ยอมเปิดกล้องเพื่อให้เห็นใบหน้าแต่อย่างใด รวมถึงอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และฝากบุตรหลานช่วยสอดส่องบุคคลในครอบครัวว่ามีการใช้จ่ายเงินที่ผิดปกติหรือไม่ เพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
หากตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ โดยการแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายรวมกว่า 600 ล้านบาท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตำรวจไซเบอร์ให้สัมภาษณ์ ยังไม่พบ ‘บิ๊กโจ๊ก’ กระทำผิด แต่เจอคนใกล้ชิดเอี่ยว
- ตำรวจไซเบอร์บุกจับ เพจขายเฟอร์นิเจอร์ทิพย์ เชิดเงินลูกค้า 100 ล้าน
- ตำรวจไซเบอร์ บุกค้น 29 จุด เครือข่ายคอลเซนเตอร์-คริปโตทุนจีน ยึดรถหรูเงินสดเพียบ