ไลฟ์สไตล์

ประวัติ วันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ 9

เนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ตรงกับวันคล้ายวันสรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้

นับเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัย สร้างความโศกเศร้าให้แก่ประชาชนชาวไทย แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ยังอยู่ในปวงชนชาวไทยไม่เสื่อมคลาย และพสกนิกรชาวไทยต่างเก็บภาพของพระองค์ท่านไว้ในหัวใจและฝาหนังบ้าน พร้อมน้อมคำสอนของพ่อหลวงมาปฏิบัติใช้ในชีวิตจนถึงทุกวันนี้

Advertisements

วันนวมินทรมหาราช วันคล้ายวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 9

ย้อนกลับไปเมื่อ วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบ คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิดอย่างสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรก็มิคลายลง ก่อนทรุดหนักลงตามลำดับ

กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษา 88 ปี 313 วัน ทรงครองพระราชสมบัติได้ 70 ปี 4 เดือน 4 วัน ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตและวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถพิตร 13 ตุลาคม 2559 นำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจอาลัยรักของประชาชนคนไทยทั่วประเทศและที่พำนักอาศัยในตางแดน อย่างยากที่จะบรรยายความรู้สึกออกมา และหลั่งน้ำตากับการสูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นหนึ่งปวงใจของประชาชนไทย

13 ตุลาคม 2566 วันนวมินทรมหาราช
ภาพจาก : หน่วยราชการในพระองค์

รัฐบาลสดุดี วันนวมินทรมหาราช

วันนวมินทรมหาราช ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ตามคำประกาศของราชกิจจานุเบกษา โดยมีรายละเอียดว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความวิวัฒน์ของชาติบ้านเมืองและความผาสุกร่มเย็นแก่ผองผนสกนิกรชาวไทย

วันนวมินทรมหาราช ตรงกับวันไหน
ภาพจาก : หน่วยราชการในพระองค์

วันนวมินทรมหาราช มีความหมายว่าอะไร

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันคล้ายวันสรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตกำหนดให้เป็นวันสำคัญของชาติไทย และให้จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกับวันปิยมหาราช

Advertisements

สำหรับความหมายของวันนวมินทรมหาราชนั้น ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความหมายไว้ว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ อ่านได้ว่า นะ-วะ-มิน-ทระ-มะ-หา-ราด

วันนวมินทรมหาราช มีความหมายว่าอะไร อ่านว่าอะไร
ภาพจาก Facebook Page : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและความสามารถ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจ ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ สำหรับพระราชกาณียกิจอันโดดเด่นของพระองค์ มีดังต่อไปนี้

1. โครงการแกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว จะทำด้วยการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนทำให้ดินเปรี้ยวจัด เมื่อถึงที่สุดแล้ว จะมีการระบายน้ำออกแล้วปรับสภาพดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งสามารถใช้ดินในการเพาะปลูกได้

2. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง : เกษตรทฤษฎีใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นต้น โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นได้แก่ ขั้นต้น คือ การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตรา 30-30-30-10 เพื่อขุดเป็นสระกักเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าวในฤดูฝน 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร 30% และเป็นที่อยู่อาศัยอีก 10%

จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง คือการให้เกษตรกรรวมกันในรูปแบบของกลุ่ม สหกรณ์ เพื่อดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม คือการติดต่อประสานงาน จัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

3. โครงการฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริส่วนพระองค์ในเรื่องการจัดทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยมีการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ซึ่งจะใช้สารเคมีโปรยในท้องฟ้า จนกระทั่งไอน้ำอิ่มตัวและกลั่นตัวออกมากลายเป็นเม็ดฝน

4. กังหันน้ำชัยพัฒนา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัย และพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาขึ้น เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ ทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี และสามารถประยุกต์ใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และเพิ่มออกซิเจนให้บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร

5. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโครงการอันหลากหลายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร และโครงการกึ่งธุรกิจ อาทิ โรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงนมผงสวนดุสิต, น้ำผึ้งสวนจิตรลดา เป็นต้น

พระราชกรณียกิจ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ภาพจาก : สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

หากถามว่าทำไมคนไทยถึงรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยิ่งกว่าชีวิต เชื่อว่าเป็นคำถามที่คนไทยทุกคนสามารถตอบได้โดยใช้หัวใจ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อชาวไทยนั้นช่างมากมายเหลือคณานับ จึงไม่แปลกใจเลยที่คนไทยต่างภูมิใจที่ได้เกิดในผืนแผ่นดินของรัชกาลที่ 9 และอยากบอกต่อเรื่องราวความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน รวมทั้งบอกต่อพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของท่านที่ทรงอุทิศพระราชวรกายให้กับปวงชนชาวไทยได้มีชีวิตอย่างสงบสุขและสันติตลอดมา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button