ข่าวข่าวอาชญากรรม

เปิด ‘บทลงโทษ’ ทางกฎหมายของเด็กและเยาวชน ผู้เยาว์กระทำผิดต้องรับโทษอย่างไร

เปิด ‘บทลงโทษ’ ทางกฎหมายต่อเด็กและเยาวชน อ้างอิงจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 73-76 บทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดของเยาวชน ร่วมไขความจริง หากผู้เยาว์กระทำผิด ศาลจะพิจารณาตัดสินต่อการกระทำนั้นอย่างไร

“เยาวชนทำผิดต้องรับโทษอย่างไร” หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เกิดการหยิบยกมาตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งจากผู้คนในสังคม ในทุกคราที่เกิดกรณีผู้เยาว์กระทำความผิด อันเป็นความผิดที่ขัดต่อกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง หรือแม้แต่นำไปสู่การสูญเสียก็ตาม

หากย้อนกลับไปในช่วงสิบปีให้หลังหรือก่อนหน้านั้นก็ตาม หลายคนคงเคยได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับกรณีการกระทำผิดกฎหมายของเหล่าเด็กและเยาวชน ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทั้งกระทำไปโดยความประมาทเลินเล่อ ขาดการไตร่ตรอง หรือแม้แต่สาเหตุที่หลายคนมักได้ยินอยู่เสมอ ๆ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” จากหลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้นนี้เองเป็นเหตุให้ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับโทษของเด็กเหล่านี้ยังคงเกิดการถกเถียงอยู่เรื่อยมาในสังคม

เปิด 'บทลงโทษ' ทางกฎหมายของเด็กและเยาวชน ผู้เยาว์กระทำผิดต้องรับโทษอย่างไร

เปิดตำราประมวลกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน

ในปัจจุบันประเทศไทยได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนไว้ทั้งสิ้น 4 กฎหมาย ได้แก่

  • พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก
  • ประมวลกฎหมายอาญา
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในที่นี้ จะขอหยิบยกประมวลกฎหมายอาญาในหมวดที่ 4 ความรับผิดทางอาญา มาตรา 73-76 ซึ่งนับเป็นกฎหมายที่ระบุโดยตรงเกี่ยวกับบทลงโทษจากการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน เพื่อนำมาชี้แจงประเด็นที่ผู้ในสังคมยังคงตั้งคำถาม “เยาวชนทำผิดต้องรับโทษอย่างไร”

เปิด 'บทลงโทษ' ทางกฎหมายของเด็กและเยาวชน ผู้เยาว์กระทำผิดต้องรับโทษอย่างไร

มาตรา 73 ระบุว่า เด็กอายุไม่เกินสิบสองปี หากกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เด็กผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ อีกทั้งให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายต่อไป

มาตรา 74 ระบุว่า เด็กอายุมากกว่าสิบสองปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี (อายุ 12-15 ปี) หากกระทําการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เด็กผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอํานาจที่จะดําเนินการ ‘มาตรการพิเศษ’ เพื่อฟื้นฟูเด็กผู้กระกระทำผิด ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ประการแรก ว่ากล่าวตักเตือนเด็กผู้นั้นแล้วปล่อยตัวไป หรือหากศาลเห็นสมควรที่จะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง มาตักเตือนด้วยก็สามารถกระทำได้
  • ประการที่สอง หากศาลเห็นว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กผู้นั้นได้ ศาลจะมีคําสั่งให้มอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกําหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกําหนด ซึ่งต้องไม่เกินสามปีและกําหนดจํานวนเงินตามที่เห็นสมควร และเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้นอีก บิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชําระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท
  • ประการที่สาม หากศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตามที่ว่าไว้ในประการที่สอง ในกรณีเช่นนี้ศาลสามารถแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กผู้นั้น
  • ประการที่สี่ หากเด็กผู้นั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมี แต่ศาลพิจารณาว่าไม่สามารถดูแลเด็กผู้นั้นได้ หรือในกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกําหนดตามประการที่สอง ศาลจะมีคําสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกําหนด รวมถึงมอบอำนาจให้แก่องค์การนั้น ๆ เช่นเดียวกับการเป็นผู้ปกครอง และสามารถกําหนดที่อยู่ จัดหาให้เด็กมีงานทําตามสมควรหรือให้ดําเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้
  • ประการที่ห้า ดำเนินการส่งตัวผู้เด็กนั้นไปยังสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม สถานแนะนําทางจิต หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ระยะเวลาขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาเห็นสมควร แต่ไม่ให้อาศัยอยู่เกินอายุครบ 18 ปี

ทั้งนี้ หากศาลพิจารณาเห็นสมควรดำเนินการตามที่ว่าไว้ในประการที่สอง สาม สี่ ห้า ในขณะใดภายใต้ระยะเวลาที่ศาลกําหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เองหรือตามคําเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคําสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอํานาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคําสั่งนั้นหรือมีคําสั่งใหม่ตามอํานาจในมาตรานี้

มาตรา 75 ระบุว่า ผู้ใดอายุกว่าสิบห้าปีแต่ต่ำกว่าสิบแปดปี (อายุ 15-18 ปี) หากกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับเด็กผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษก็ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง

มาตรา 76 ระบุว่า ผู้ใดอายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังเกินยี่สิบปี (อายุ 18-20 ปี) หากกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้

เปิด 'บทลงโทษ' ทางกฎหมายของเด็กและเยาวชน ผู้เยาว์กระทำผิดต้องรับโทษอย่างไร

อย่างไรก็ตาม จากกรณีการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน อันขัดต่อกฎหมายในหลายครั้งหลายครา รวมถึงในกรณีล่าสุด เมื่อช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายรายนั้น ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ที่ปลุกเสียงเรียกร้องจากเหล่าประชาชนอีกครั้ง เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน รวมถึงบทลงโทษของผู้กระทำผิด ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเหล่านี้

ข้อมูลจาก สถาบันนิติธรรมาลัย

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button