ข่าว

สพฉ.แจงยกเลิก สายด่วน “1669” ใช้เบอร์ “191” ขอความช่วยเหลือแทน

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เตรียมแผนควบเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน “1669” ไปใช้หมายเลข “191” โทรขอความช่วยเหลือทางการแพทย์แทน

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) “ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา” เปิดเผยความคืบหน้า กรณีแผนการยุบรวมหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ไปใช้หมายเลขฉุกเฉิน 191 ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอทางตำรวจว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้มีการวางระบบการทำงานไว้แล้ว

งบประมาณก็มีแล้วประมาณ 7,000 ล้านบาท ในส่วนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มอบอำนาจให้ตำรวจไปดำเนินการแล้ว มีการจัดทำ เงื่อนไข (TOR) ไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว “ทุกอย่างถ้าเริ่มได้ก็รันไปเลย ทั้งนี้ จากข้อมูลการโทรสายด่วน 1669 อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านครั้งต่อปี ส่วนสายด่วน 191 อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านครั้งต่อปี หากรวมกันก็จะมีปริมาณสายที่โทรเข้ามาอยู่ที่ราวๆ 11 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งจากนี้หากเริ่มดำเนินการรวมหมายเลขฉุกเฉินแล้ว จะต้องโทรเข้า 191 เป็นอันดับแรก (First call) เพื่อคัดกรอง หากเป็นเรื่องฉุกเฉินทางการแพทย์ ก็จะส่งต่อไปที่ 1669 (Second call) ดังนั้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนให้ประชาชนโทร 191 เพียงหมายเลขเดียว”

ยกเลิกสายด่วน 1669

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากรวมใช้หมายเลขเดียว 191 แล้ว การพิจารณาอาการฉุกเฉินทางการแพทย์ ต้องจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ไปร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรับสายด่วนนี้หรือไม่

ทั้งนี้ทางด้านของ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า อันดับแรก เมื่อโทรเข้า 191 เจ้าหน้าที่จะสอบถามก่อนว่า เป็นเรื่องฉุกเฉินด้านใด หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ จะส่งต่อไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

“หากไม่ใช่เรื่องตำรวจ อาจจะส่งไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือไปที่กระทรวง แล้วค่อยแยกว่า เป็นเรื่องการแพทย์หรือไม่ เพราะนี่เป็นการรวมหมายเลขฉุกเฉินหลายส่วนเข้ามา จากเดิมที่แยกกันอยู่ ต่างคน ต่างทำ ตอนนี้ก็หวังว่าจะเป็นศูนย์เดียว เบอร์เดียว บูรณาการการจัดการร่วมกัน อยู่ระหว่างรอคิกออฟก่อน ทั้งนี้ ในส่วนของแอพพลิเคชั่น 1669 ที่เอาไว้แจ้งเหตุและพิกัดนั้น ก็อาจจะต้องปรับปรุงใหม่ด้วยเช่นกัน” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

เมื่อถามว่า เนื่องจากอาการป่วยฉุกเฉินบางอย่างต้องการความรวดเร็วในการช่วยเหลือมาก การที่ต้องส่งต่อหมายเลขเป็นทอดๆ จะทำให้การช่วยเหลือทันเวลาหรือไม่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือ ต้องไม่ช้า ทั้งหมดต้องต่อให้ได้ภายใน 2 นาที ทั้งหมดต้องเชื่อมต่อกัน

“เราใช้ข้อมูลผ่านโปรแกรมเดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อโทรเข้ามา คำถามแรกก็จะรู้ได้ว่า เป็นเรื่องสุขภาพหรือไม่ ถ้าไม่ใช่สุขภาพเลยก็ส่งต่อไปหน่วยงานอื่น ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพก็มาทางนี้” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องความเข้าใจคำว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่แตกต่างกัน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ไม่สามารถทำให้ทุกคนรู้ได้ แต่ให้ทุกคนถามได้ ถ้าไม่รู้ก็สามารถถามได้

อ้างอิง : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button