ข่าว

เคาะเงื่อนไข พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ครม. เผยเริ่ม 1 ตุลาคมนี้

ไฟเขียว! ครม. อนุมัติการพักหนี้เกษตรกรไทย 3 ปี และ SME เช็กเงื่อนไขใครได้สิทธิ์บ้าง ก่อนเริ่ม 1 ตุลาคม 2566 นี้

ถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทยและ SME เพราะคณะรัฐมนตรีนำโดยกระทรวงการคลัง ได้มีมติเห็นชอบให้มีการพักชำระหนี้ของเกษตรกร รวม 3 ปี ตลอดจนผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567

พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ใครเข้าเกณฑ์บ้าง?

วันนี้ 26 กันยายน 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพ เพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 -12 กันยายน 2566 โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

พักหนี้เกษตรกร 3 ปี เงื่อนไข

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 -3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs))

ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว

พักหนี้เกษตรกร 3 ปี เงื่อนไข

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับ ส่วนงานราชการและ หน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้

เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงิน ไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

อนึ่ง เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พักหนี้เกษตรกร 3 ปี เงื่อนไข

มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์และกำหนดมาตรการในการพักการชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการSMEs

กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าว จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่อง ให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุน ในการประกอบอาชีพและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ซึ่ง ธ.ก.ส. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอกอย่างบูรณาการจะช่วยยกระดับการดำรงชีพของเกษตรกรให้มีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างความมั่นคงของเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

พักหนี้เกษตรกร 3 ปี เงื่อนไข

สรุปเงื่อนไข การพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อย

  • เงินต้นไม่เกิน 300,000 บาท พิจารณาจากทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566
  • ต้องมีสถานะเป็นหนี้ปกติหรือหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 – 3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) Non-Performing Loans : NPLs
  • ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567
  • หลังจากครบระยะแรก จะมีการประเมินผลโครงการ และเข้าสู่ระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป
  • เกษตรกรที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567
  • ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ หากปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. เรียบร้อยแล้ว

สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ตามนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ ได้มีการประเมินไว้ว่า จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท.

พักหนี้เกษตรกร 3 ปี เงื่อนไข

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button