ข่าว

แชร์ไปอ่านต่อ ‘หนุ่มรปภ. ม.รามคำแหง เผยเคล็ดลับ 12 ข้อ สอบเป็นอัยการตามฝัน

หนุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดตำนานพี่รปภ.สู้ชีวิต อ่านหนังสือจนสอบเป็นอัยการได้สำเร็จตามฝัน ก่อนออกมาโพสต์เล่าประสบการณ์เตรียมตัวสอบพร้อมแนะเคล็ดลับ 12 ข้อ ก่อนลงสนามสอบจริง

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี อุดม สุขทอง ผอ.ส่วนรักษาการทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ได้ออกมาแชร์เรื่องราวองอดีตเจ้าหน้าที่ รปภ. ม.รามคำแหง ที่สอบติดอัยการผู้ช่วย โดยระบุข้อความผ่านบัญชีโซเชียลของตัวเองว่า “ความพยายามไม่เคยทรยศใคร ขอแสดงความยินดีกับ คุณผดุงเกียรติ พรหมแก้ว อดีต จนท.รปภ.ม.รามคำแหง (สังกัด อผศ.) มีความพากเพียรพยายามจนสอบติดอัยการผู้ช่วย (รุ่น 64) สนามใหญ่ ลำดับ 47 ขอจงมีความเจริญก้าวหน้า และผดุงความยุติธรรมให้สมกับความคาดหวังของประชาชนต่อไป”

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กแฟนท่านครับ (@Thankrub62) ก็ได้ออกมาแสดงความยินดีพร้อมแชร์บทความจากคุณผดุงเกียรติที่เผยเคล็ดลับการเตรียมความพร้อมจนสอบอัยการจนสำเร็จว่า สิ่งแรกที่ทำ คือ “วางแผนการใช้ชีวิต” โดยเฉพะกับการใช้เวลากลางค่ำกลางคืนดึกดืนตะบี้ตะบันอ่านหนังสือในช่วงทำงานเพราะเป็นเวลาที่เงียบสงบเหมาะแก่การท่องจำเนื้อหา

“จากการทำงาน รปภ. ทำให้ทำตามแผนได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีเวลามากในการอ่านหนังสือ ไม่เครียดกับงานที่ทำ และมีสมาธิอยู่กับการอ่านหนังสือ ที่ต้องทำงาน รปภ. เพราะวางแผนการอ่านหนังสือในแบบของตัวเอง ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วต้องใช้เวลามากในการทำตามแผนที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องหางานที่ให้เวลาที่เหมาะสมแก่การนั้น

อัยการ หนุ่มรปภ. ม ราม
ภาพ Facebook @ajudoms

แผนการอ่าน คือ ?

  1. การเตรียมตัวสอบใช้หนังสือหลักในการอ่านในแต่ละวิชาเพียง 1 เล่ม เพราะเนื้อหามีเยอะ หลายวิชา และเพื่อลดความสับสนในเนื้อหา (อาจเป็นเอกสารติวสรุปก็ได้ เพราะง่ายต่อการทำความเข้าใจโครงสร้า งเนื่องจากมีการสรุปมาครั้งหนึ่งแล้ว) ถ้าเป็นไปได้ให้อ่านโดยวิธีการออกเสียงให้ได้ยินเสียงตัวเอง เพื่อให้สมองได้รับความรู้ 2 ทางคือ ตา และหู อีกทั้งยังเป็นการฝึกการถ่ายทอดข้อมูล เป็นประโยชน์ตอนเขียนตอบข้อสอบอีกด้วย
  2. อ่านรอบแรกให้อ่านแบบคร่าว ๆ เพื่อทราบโครงเรื่องทั้งหมด
  3. การอ่านครั้งที่ 2 ให้จับประเด็นละเอียดของแต่ละเรื่อง โดยใช้ปากกาไฮไลต์ข้อความทั้งหมดที่เห็นว่าสำคัญ และจำเป็นต้องทำความเข้าใจ หรือจดจำ (อาจไฮไลต์มากหน่อย แต่จำเป็นต้องทำ เพราะข้อความที่ไม่ถูกไฮไลต์จะถูกตัดทิ้งไปในขั้นตอนนี้)
  4. พิมพ์ตัวบทกฎหมายขึ้นมาเป็นของตัวเอง โดยตัดข้อความที่ไม่สำคัญออก เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
  5. เขียนหรือพิมพ์ข้อความที่ไฮไลต์สรุปทั้งหมด ลงในตัวบทกฎหมายที่เป็นของตัวเอง
  6. การทำสรุปนี้อาจมีเนื้อหาส่วนที่ยังไม่เข้าใจ หรือไม่ได้คำตอบ ให้จดเป็นคำถามไว้ทันที รวบรวมไว้ แล้วนำไปวิเคราะห์กับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน หรือสอบถามจากอาจารย์ ถ้าได้คำตอบก็ให้นำมาเพิ่มเติมในภายหลัง
  7. อ่านหนังสืออื่นเพิ่มเติม เช่น กฎหมายพิสดารต่าง ๆ แล้วทำเหมือนข้อ 3. เปรียบเทียบดูว่าสรุปของเรายังขาดเนื้อหาส่วนใดไป เนื้อหาส่วนไหนยังไม่มีในสรุป ให้เอาเนื้อหาส่วนนั้นเพิ่มไปในสรุปตาม ข้อ 5.
  8. ทำข้อ 1-6 ทั้งกฎหมายสี่มุมเมืองและกฎหมายพิเศษที่ใช้ในการสอบ แล้วพิมพ์สรุปดังกล่าวเข้าเล่ม เพื่อความสะดวกในการอ่าน สุดท้ายเราจะได้ตัวบทกฎหมายซึ่งมีเนื้อหากฎหมายอยู่ด้วยเป็นของเราเอง
  9. ใช้สรุปตัวหลังนี้ในการอ่านเตรียมสอบ และอ่านซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันสอบ ถ้าพบประเด็นเพิ่มเติม สามารถจดด้วยปากกาเพิ่มเข้าไปได้

10. เมื่ออ่านสรุปของตัวเองครบแล้ว จะไปตามอ่านฎีกาน่าสนใจในเพจต่าง ๆ แล้วเทียบดูว่ามีฎีกาเรื่องไหนที่เรายังไม่มีหรือไม่เคยอ่าน ก็ให้พิมพ์สรุปแบบสั้น ๆ มาเก็บไว้ใช้อ่านเล่นก่อนถึงวันสอบ ฎีกาเหล่านี้มักจะถูกนำมาเป็นข้อสอบประมาน 1-2 ข้อ การมีสรุปตัวบทกฎหมายและเนื้อหาเป็นของตัวเองข้างต้นดีอย่างไร? ทำให้ผู้เขียนสามารถทบทวนเนื้อหาที่ใช้สอบทั้งหมดได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องไปเปิดอ่านหนังสือเล่มใหญ่หนา ๆ

อัยยการ อุดม สุขทอง
ภาพ Facebook @ajudoms

11. การทำข้อ 1-7 จะทำให้เราจำตัวบทกฎหมายได้มากพอสมควรอยู่แล้ว แต่การสอบจำเป็นต้องแม่นยำในตัวบทมากกว่านั้น จึงจำเป็นต้องท่องตัวบทด้วย

11.1 การท่องตัวบท ตัวบทไหนที่จำยากหรือจำไม่ได้ ให้ใช้อารมณ์ความรู้สึก และตัวเลขเชื่อมโยงกับความทรงจำในการจำ เช่น อารมณ์ตลก กลัว ตกใจ หรือใช้วิธีใดก็ตามที่กระทบต่อความรู้สึก เช่น อาจแต่งเป็นกลอนก็ได้ จะทำให้เราจำได้ดีมาก เพราะสมองจะจดจำถ้อยคำที่ประกอบด้วยอารมณ์ได้มากกว่าถ้อยคำอย่างเดียวเป็นอย่างมาก (วิธีการนี้ถูกเขียนไว้ในหนังสือตั้งค่าสมองฯ ของ Roger Seip)

11.2 การท่องตัวบท ให้เริ่มต้นโดยพูดออกเสียงตามสิ่งที่จำได้ แล้วนำไปเทียบกับถ้อยคำในตัวบท ถ้อยคำไหนที่สำคัญและไม่ได้พูดออกเสียงไว้ (จำไม่ได้) ให้เอาปากกาไฮท์ไลต์ไว้ในตัวบท และให้กลับไปทำตามข้อ 11.1 ในถ้อยคำที่จำไม่ได้ดังกล่าว

11.3 เมื่อทำครบถ้วนตามข้อ 11.2 แล้ว ให้ลองนำมาเขียนลงในสมุดทั้งหมด แล้วตรวจดูว่าจำได้ทั้งหมดแล้วหรือไม่ ถ้อยคำใดที่ยังจำไม่ได้ ให้กลับไปทำตามข้อ 8.1

12. ทำข้อสอบเก่า ให้ลองทำข้อสอบเก่าโดยไม่ดูธงคำตอบก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าเรายังผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องในส่วนไหน แล้วให้ตรวจสมุดคำตอบของเรากับธงคำตอบ เมื่อพบข้อบกพร่องให้โน้ตข้อบกพร่องเตือนตัวเองในแต่ละข้อไว้ เมื่อทำข้อสอบครบทั้งหมด ให้กลับไปอ่านดูข้อบกพร่องที่ตัวเองเขียนไว้ แล้วนำมาแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนถึงวันสอบ”

ท้ายบทความ คุณผดุงเกียรติ ยังย้ำว่า เป็นเวลาที่ยาวนานในการลงมือทำซึ่งรู้ตั้งแต่เมื่อคิดอยากเป็นพนักงานอัยการจึงได้ตัดสินใจทำงานเป็น รปภ. อาจมีบางคนมองว่าเป็นงานที่ต้อยต่ำไม่มีเกียรติ หรือมีคนดูถูก จึงไม่อยากทำ แต่สำหรับตนแล้ว งานนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สอบเป็นพนักงานอัยการได้ จึงไม่ใช้คำว่า “รปภ. สอบอัยการได้” แต่ใช้คำว่า “เป็น รปภ. จึงสอบอัยการได้”. (อ่านโพสต์ฉบับเต็ม)

หนุ่มรปภ. ม ราม ข่าวสอบอัยการ
ภาพ Facebook @ajudoms

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button