ต้องพิจารณาหลาย ๆ ด้าน แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ในรัฐบาลนายกเศรษฐา หวังแก้ปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน จริงๆ แล้วมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน
ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของข้าราชการไทย เมื่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของ นายกเศรษฐา ทวีสิน ได้เสนอการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ แบบภาคเอกชน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป งานนี้ทำประชาชนเสียงแตกทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง Thaiger ถือโอกาส พาทุกท่านไปเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย จากการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวด แบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน?
นโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือนค่าราชการ 2 ครั้ง เป็น ข้อดี หรือ ข้อเสีย ได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่ทำไมผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน
ในปัจจุบันเงินเดือนข้าราชการไทย ได้ถูกจ่ายเดือนละครั้ง และมีอัตราเงินเดือนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละตำแหน่งและประเภทสายงาน ได้แก่ ประเภทบริหาร, ประเภทอำนวยการ, ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป ทว่าหลังจากมีกระแสการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้ง ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงข้อดีและข้อเสีย ดังต่อไปนี้
ข้อดี การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้ง
1. สร้างวินัยทางการเงิน แก้ปัญหาเงินหมดก่อนสิ้นเดือน
การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้งต่อเดือน จะช่วยสร้างวินัยทางการเงินให้กับข้าราชการไทยได้ โดยต้องทำการจัดสรรปันส่วน เพื่อวางแผนการใช้เงินให้ครอบคลุมจนกว่าจะได้รับเงินเดือนก้อนใหม่ทุก ๆ 15 วัน ซึ่งหากบริหารได้ดี ในช่วงครึ่งเดือนหลังก็อาจมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น
2. ลดระยะการรอเงินรอบใหม่ แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน
การจ่ายเงินเดือน 2 ครั้ง จะช่วยให้ข้าราชการไทยมีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้น เนื่องจากจะมีรายรับเข้ามาในทุก ๆ 15 วัน ทำให้ลดระยะเวลาแห่งการรอคอย และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารตลอดทั้งเดือน ไม่หนักไปที่สิ้นเดือนหรือต้นเดือนแบบที่ผ่านมา
3. แก้ปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน
หนึ่งในแนวคิดหลักที่ผลักดันให้เกิดนโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ก็คือการที่รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาการกู้หนี้ยืมสินในปัจจุบัน โดยหากข้าราชการมีรายได้เดือนละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยลดการหยิบยืมเงินคนอื่น มีวิธีในการบริหารเงินที่คล่องตัว และรู้เท่าทันการใช้เงินของตัวเองตลอดทั้งเดือนได้ เนื่องจากต้องวางแผนล่วงหน้าทุก ๆ 2 สัปดาห์
4. แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
สำหรับการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ จะช่วยให้รัฐบาลได้ประโยชน์ในการลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มสภาพคล่องต่อเงินหมุนเวียนในคลังได้ โดยจากเดิมที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เดือนละครั้ง ก็จะเปลี่ยนมาเป็นแบ่งจ่ายในจำนวนที่ลดลงครึ่งหนึ่งเดือนละ 2 ครั้งแทน ทำให้มีเวลาในการหมุนเวียนเงินบริหารประเทศเพิ่มทุก ๆ 15 วันนั่นเอง
ข้อเสีย การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ
1. จัดสรรเงินชำระหนี้สินได้ยาก
แม้แนวคิดการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จะมีจุดประสงค์ในการลดการกู้หนี้ยืมสิน แต่ในทางกลับกัน ในเคสที่ข้าราชการมีภาระหนี้สินต้องชำรา เช่นผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ช่วงต้นเดือน ประชาชนจำนวนมากมองว่าการแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 ครั้ง จะทำให้ข้าราชการที่มีหนี้สินอยู่ก่อนแล้วเดือดร้อน เนื่องจากต้องรอสะสมเงินเดือนทั้ง 2 ครั้ง จึงจะสามารถนำไปชำระหนี้ได้ และอาจทำให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอนาคต
2. ข้าราชการที่มีรายได้น้อย ได้เงินไม่พอใช้จ่าย
หากใครที่ทราบฐานเงินเดือนข้าราชการในปัจจุบัน จะรู้ดีว่าบางตำแหน่งยังคงมีฐานเงินเดือนเริ่มต้นที่หลักพันบาท เช่น ข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งทั่วไประดับปฏิบัติงาน มีฐานเงินเดือนเริ่มต้น 4,870 – 21,010 บาทเท่านั้น เมื่อมีการแบ่งจ่าย 2 รอบ ก็อาจทำให้ข้าราชการจำนวนมาก ไม่มีเงินพอที่จะวางแผนค่าใช้จ่ายในทุก ๆ 15 วัน
3. ข้าราชการขาดอิสระในการบริหารเงิน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งข้อเสียของนโยบายนี้ คือการขาดความเป็นอิสระในการบริหารเงิน เนื่องจากข้าราชการต้องนั่งวางแผนการใช้เงินทีละก้อน แทนการใช้จ่ายแบบปกติที่ผ่านมา และไม่สามารถทำอะไรได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากต้องคำนึงถึงรายจ่ายและรายรับในทุก ๆ 2 สัปดาห์
4. ห่วงโซ่รายรับที่น้อยลงของครอบครัว
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของคนที่เป็นเสาหลักครอบครัว เมื่อมีการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้ง ก็คือผลกระทบในการจัดสรรเงินส่งกลับไปให้คนที่บ้าน โดยจากเดิมที่สามารถให้เงินก้อนใหญ่ในทุกเดือน ก็ต้องเปลี่ยนมาทยอยให้เดือนละ 2 ครั้ง
ทั้งนี้ด้วยจำนวนเงินที่ลดลง ทำให้คนรับเงินที่ปลายทาง ต้องนั่งบริหารจัดสรรการใช้เงินเช่นเดียวกัน หรือหากข้าราชการรายนั้นให้เงินก้อนใหญ่แค่ครั้งเดียวเช่นเดิม ก็จะทำให้ตัวของข้าราชการเอง มีเงินไม่พอใช้ตลอด 2 สัปดาห์ จนกว่าจะได้รับเงินเดือนรอบใหม่
ในปัจจุบันชาวไทยจำนวนมาก ยังคงถกเถียงกันถึงนโยบายการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ว่าสุดท้ายแล้วจะมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะถูกนำมาใช้จริงหรือไม่ ต้องรอฟังประกาศของรัฐบาลเร็ว ๆ นี้.