ข่าวการเมือง

พระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท ทักษิณ อยู่ใต้เงื่อนไขใดหรือไม่

การพระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท นายทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องโทษ 3 คดี อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ ภายใต้เงื่อนไขการอภัยโทษเป็นรายบุคคล

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยหลังจากถึงไทยก็ได้ถูกควบคุมตัวที่ศาล ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุกนายทักษิณ จาก 3 คดี รวม 8 ปี ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่า นายทักษิณจะขอ พระราชทานอภัยโทษ เพราะเป็นสิทธิของผู้ต้องขังทุกคน

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ต้องขังทุกคนจะมีสิทธิขอรับการพระราชทานอภัยโทษ แต่ต้องยู่ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องอยู่ในระหว่างการรับโทษ อีกทั้งต้องรับโทษแล้วจึงจะสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันแรก หากไม่มีการโปรดเกล้าฯ ก็จะไม่สามารถยื่นได้ภายใน 2 ปี แล้วแบบนี้นายทักษิณจะอยู่ในเงื่อนไขหรือไม่ มาเปิดขั้นตอนการขอพระราชอภัยโทษ แล้วการขอพระราชทานอภัยโทษนี้มีกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง

การขอพระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท และมีขั้นตอนใดบ้าง

พระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท ทักษิณ อยู่ใต้เงื่อนไขใดหรือไม่

การขอพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง การพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แก่ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว ให้ได้รับการปล่อยตัวหรือลดโทษแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระรบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 21 และมาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ มาตรา 259 ถึง มาตรา 267 โดยมีประเภทและขั้นตอน ดังนี้

ประเภทของการพระราชทานอภัยโทษ

1. แบ่งตามลักษณะของผู้ได้รับการอภัยโทษ

1.1 การอภัยโทษทั่วไป (General Pardon) เป็นการให้อภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษจำนวนมาก ที่เป็นการแสดงออกถึงพระเมตตาคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อราษฎรของพระองค์ในวโรกาสที่สำคัญต่าง ๆ เช่น การอภัยโทษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม ในกรณีนี้ ทางราชการจะดำเนินการให้แก่ผู้ต้องโทษในทุกขั้นตอน โดยบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 ทวิ ดังนี้

“มาตรา 261 ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้

1.2 การอภัยโทษเป็นรายบุคคล (Individual Pardon) เป็นรูปแบบการอภัยโทษโดยเป็นการพิจารณาจากตัวผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล ซึ่งมีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิยื่นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ได้แก่

    • ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุด
    • ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง อาทิ บิดามารดา บุตร คู่สมรส
    • สถานทูต (ในกรณีที่เป็นนักโทษชาวต่างประเทศ)

นอกจากนี้ การอภัยโทษเป็นรายบุคคล ในปัจจุบันบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 259 โดยบัญญัติไว้ ดังนี้

“มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้”

พระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท ทักษิณ อยู่ใต้เงื่อนไขใดหรือไม่

2. แบ่งตามผลของการได้รับอภัยโทษ

2.1 การอภัยโทษปล่อย จะทำให้ผู้ได้รับการอภัยโทษพ้นจากการถูกบังคับตามคำพิพากษาเลย

2.2 การอภัยโทษลดโทษ จะทำให้ผู้ได้รับการอภัยโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ไม่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาแต่เพียงบางส่วน เช่น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต หากได้รับการอภัยโทษลดโทษ อาจจะเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน

2.3 การอภัยโทษเปลี่ยนโทษ จะทำให้ผู้ได้รับอภัยโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษา เช่น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต หากได้รับการอภัยโทษเปลี่ยนโทษ เป็นจำคุก 10 ปีแทน

3. แบ่งตามที่มาของการอภัยโทษ

3.1 การอภัยโทษตามกฎหมาย คือการอภัยโทษที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามกฎหมายแล้ว เพื่อมีผลให้ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาไม่ต้องรับโทษ (กรณีอภัยโทษปล่อย) ได้รับโทษน้อยลง (กรณีอภัยโทษลดโทษ) หรือได้รับโทษต่างไปจากคำพิพากษา (กรณีอภัยโทษเปลี่ยนโทษ)

3.2 การอภัยโทษตามจารีตประเพณี คือการอภัยโทษในกรณีที่ยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามกฎหมายให้ลงโทษผู้กระทำความผิดแต่อย่างใดและในบางกรณีเป็นการอภัยโทษในชั้นพนักงานซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวน หรือฟ้องร้องโดยที่ยังมิได้มีการพิจารณาพิพากษาแต่อย่างใด

พระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท ทักษิณ อยู่ใต้เงื่อนไขใดหรือไม่
ภาพจาก Facebook : Thaksin Shinawatra

ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ

โดยขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ ทัณฑสถาน กระทรวงมหาดไทย สำนักราชเลขาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูตได้

โดยหลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำที่ควบคุมผู้ต้องโทษ จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และดำเนินการพร้อมกับแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ทราบต่อไป

นายทักษิณ ชินวัตร เข้าเงื่อนไขการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อยู่ในเงื่อนไข การขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย โดยมีกรอบเวลาการยื่น แยกเป็นกรณีผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป และสามารถยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด แต่หากเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด

อาจกล่าวได้ว่า การพระราชทานอภัยโทษ มี 3 ประเภท ได้แก่ แบ่งตามลักษณะของผู้ได้รับการอภัยโทษ แบ่งตามผลของการได้รับอภัยโทษ และแบ่งตามที่มาของการอภัยโทษ โดยในส่วนของนายทักษิณ อยู่ภายใต้เงื่อนไขลักษณะการอภัยโทษเฉพาะราย

ทั้งนี้ การขอพระราชทานอภัยโทษ สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในข้างต้นได้ ซึ่งหลังจากการกลับมายังประเทศไทย ได้ถูกศาลตัดสินคดีความทั้งสิ้น 3 คดี รวมระยะเวลาจำคุก 8 ปี ทั้งนี้ การขอรับพระราชทานอภัยโทษจะได้ผลเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไปค่ะ

พระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท ทักษิณ อยู่ใต้เงื่อนไขใดหรือไม่

อ้างอิง : 1

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button