ข่าว

27 สิงหาคม 2566 เตรียมชวนเพื่อนส่องดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุด

27 สิงหาคม 2566 ชมดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุด ชัดสุด เต็มดวงสุด ในรอบปี สามารถชมได้ตลอดคืนจวบจนเช้า พร้อมบอกพิกัดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด หรือรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์

เตรียมส่งท้ายเดือนสิงหาคมไปกับปรากฏการณ์สุดยิ่งใหญ่ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 ตลอดคืนจวบจนขึ้นวันใหม่ ซึ่งหากฟ้าใส ไร้ฝน บอกเลยว่าสามารถดูได้ด้วยตาเปล่าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นสำหรับใครที่สนใจส่องดาวเสาร์แบบ Full HD ทาง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ 4 จุดหลักประจำแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศไทย ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา

ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้อธิบายถึงลักษณะของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ว่า “ปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือ Saturn Opposition ที่หมายถึง การเรียงตัวในแนวเดียวกันของดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งได้ผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ซึ่งจะห่างออกไปประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร

ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุด 27 ส.ค. 66

หลังจากที่ดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไปแล้วนั้น จะสามารถมองเห็นดาวเสาร์ส่องสว่างอยู่ทางทิศตะวันออก โดยจะสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งคืนจวบจนรุ่งเช้า และหากฟ้าใสไร้ฝนแล้วละก็ สามารถดูได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า ไม่ต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์เลยทีเดียว

แต่หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 30 เท่าขึ้นไปนั้น ก็จะสามารถมองเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน และหากใช้กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไปก็จะมองเห็นแนวช่องว่างภายในวงแหวน หรือที่เรียกกันว่า ‘ช่องว่างแคสสินี’ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถสังเกตเห็น ‘ดวงจันทร์’ ดาวบริวารของดาวเสาร์ได้อีกด้วย

สำหรับผู้ใดที่สนใจส่องดาวเสาร์ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้จัดเตรียมกิจกรรมสังเกตการณ์ใน 4 จุดหลักในประเทศไทย ได้แก่

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ : โทร. 084-0882261
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวภูมิภาค) จังหวัดนครราชสีมา : โทร. 086-4291489
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวภูมิภาค) จังหวัดฉะเชิงเทรา : โทร. 084-0882264
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวภูมิภาค) จังหวัดสงขลา : โทร. 095-1450411

กิจกรรมสังเกตการณ์จะถูกจัดขึ้นในเวลา 18:00 น. จนถึง 22:00 น. เข้าร่วมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือหากท่านใดไม่สะดวกเดินทางไปเข้าร่วมยังจุดสังเกตการณ์ ก็สามารถรับชมผ่าน LIVE ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เช่นกัน

สุดท้ายนี้ The Thaiger หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเพลิดเพลินและมีความสุขไปกับการรับชมปรากฏการณ์สุดยิ่งใหญ่ส่งท้ายเดือนสิงหาคมนี้ไปพร้อม ๆ กับเพื่อนและคนที่คุณรัก แล้วเจอกันดาวเสาร์!

ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button