ข่าวไลฟ์สไตล์

ชวนรู้จัก “การ์กอยล์” คืออะไร ทำไมถึงถูกเทียบ “ครูกายแก้ว”

เปิดตำนาน “การ์กอยล์” อสุรกายหน้าตาอัปลักษณ์ บนมหาวิหารนอเทรอดาม ประเทศฝรั่งเศส ดูผิวเผินคล้าย “ครูกายแก้ว” จนถูกโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกัน

ใครที่ชื่นชอบเรื่องเหนือธรรมชาติ อาจเคยได้ยินชื่อเสียง การ์กอยล์ (Gargoyle) หรือ ปนาลี กันมาบ้างแล้วแน่ ๆ เพราะเจ้าการ์กอยล์ถือเป็นปีศาจระดับล่าง ที่มีรูปปั้นปรากฏอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะบนวิหารและโบสถ์คริสต์สไตล์โกธิค วันนี้ Thaiger เลยจะพาทุกท่านไปดูด้วยกันว่า การ์กอยล์ คืออะไร ทำไมคนไทยถึงมองว่าเหมือน ครูกายแก้ว พ่อใหญ่ บรมครูผู้เรืองเวทย์ ที่กำลังโด่งดังในตอนนี้

ตำนาน การ์กอยล์ ปีศาจอัปลักษณ์ อสุรกายแห่งฝรั่งเศส

การ์กอยล์ มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสคือ “gargouille” ที่แปลว่าคอหอย แต่ในภาษาอังกฤษคำว่า Gargoyle มีความคล้ายกับเสียงที่กลั้วน้ำในปาก แถมยังสอดคล้องกับคำว่า Gargle ที่แปลว่า บ้วนปาก อีกด้วย ส่วนอีกชื่อหนึ่งของการ์กอยล์อย่าง ปนาลี มีความหมายทางสถาปัตยกรรมว่า หินที่แกะเป็นรูปอัปลักษณ์ (grotesque)

การ์กอยล์มีลักษะเด่นคือ ท่านั่งยอง ๆ มาพร้อมปีกขนาดใหญ่ มีรูปหน้าคล้ายคน มีเขี้ยวและเล็บยาวที่แหลมคม โดยส่วนใหญ่จะถูกทำรูปปั้นไว้บนอาคารสูง เช่น วิหาร และ โบสถ์ โดยมันจะเพ่งมองไปข้างหน้า คล้ายกำลังจ้องหรือเฝ้าอะไรบางอย่างตลอดเวลา สอดคล้องกับความเชื่อที่ใช้การ์กอยล์ในการเฝ้ารางน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าอาคารนั่นเอง

การ์กอยล์ คืออะไร

ตำนานการ์กอยล์ อสุรกายรูออง ผู้ปกป้องรางน้ำ

ตำนานต้นกำเนิดของการ์กอยล์มีด้วยกันหลายอย่าง โดยหนึ่งในเรื่องเล่าดังเชื่อกันว่า การ์กอยล์ เกิดขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ในกลุ่มของชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านรูออง ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งว่ากันว่าก่อนจะมีการ์กอยล์ บ้านเมืองของผู้คนต้องเจอกับฝันร้ายจากมังกรไฟ หรือที่เรียกว่า ลา กากุยล์ (La Gargouille)

ต่อมามีนักบวชที่ชื่อ เซนต์โรมานุส (St. Romanus) ได้เข้ามาช่วยชาวบ้าน ด้วยการใช้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ปราบมังกรร้าย ทำให้ชาวบ้านนำมันไปเผา แต่เศษซากของมันกลับไหม้ไม่หมด เพราะส่วนหัวและคอไม่ยอมติดไฟ จึงมีการนำซากของมันไปตั้งประดับวิหาร เพื่ออุทิศแก่นักบวชโรมานุส จากนั้นจึงเกิดความเชื่อว่า มันสามารถขับไล่ภัยร้ายได้

การ์กอยล์ คืออะไร

นอกจากนี้ยังมีอีกความเชื่อที่บอกต่อกันว่า การ์กอยล์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกำจัดสัตว์ประหลาดในตำนานของกรีกและโรมัน เพราะสัตว์เหล่านั้นมีนิสัยดุร้ายมาพร้อมกับหน้าตาน่ากลัว ทั้งยังคอยทำร้ายผู้คนที่เดินผ่านป่าในภูเขาใหญ่ ผู้คนจึงสร้างการ์กอยล์มาปกป้องตัวเอง

เดิมทีการ์กอยล์ตามความเชื่อของแต่ละคนมีรูปร่างไม่ตายตัวนัก แต่โดยส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกันที่ท่านั่งยอง ๆ หน้าตาน่าลัว และมีปีกขนาดใหญ่ จนทำให้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัว และกลายเป็นเครื่องรางในการขับไล่ภัยอันตรายนั่นเอง

การ์กอยล์ถูกนำมาใช้เป็นรูปปั้น ประดับสถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลก อาทิ มหาวิหารนอเทรอดาม ประเทศฝรั่งเศส และ โบสถ์คริสต์สไตล์โกธิค เนื่องจากเชื่อว่ามันจะสามารถเฝ้าดูรางน้ำไม่ให้น้ำหลากเข้าด้านใน และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะประดับไว้ที่ด้านนอกเท่านั้น และเชื่อว่าไม่ควรพาการ์กอยล์เข้ามาในอาคารอย่างเด็ดขาด

การ์กอยล์ คืออะไร

การ์กอยล์ – ครูกายแก้ว เหมือนกันยังไง?

ตอนนี้ในประเทศไทย กำลังเกิดกระแสไวรัลเรื่อง ครูกายแก้ว หรือ พ่อใหญ่ บรมครูผู้เรืองเวทย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์รูปร่างสีดำมาพร้อมปีกขนาดใหญ่ ซึ่งเล่าขานกันว่า มีพระธุดงด์นั่งกรรมฐานที่นครวัด แล้วพบดวงจิตของครูกายแก้วจึงนำรูปปั้นกลับมาด้วย และได้มีการนำมาสร้างเป็นองค์ใหญ่ให้กราบไหว้บูชากันในภายหลัง

จากเรื่องเล่าที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับครูกายแก้ว รวมถึงรูปล่างที่มาพร้อมปีกขนาดใหญ่ ทำให้หลายคนยังคลางแคลงใจถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จนมีการยกครูกายแก้วมาเปรียบว่าดูคล้ายเวตาลและการ์กอยล์

การ์กอยล์ คืออะไร

ชาวเน็ตไทยหลายคนระบุว่า ครูกายแก้วและการ์กอยล์มีความคล้ายกันตรงปีกขนาดใหญ่ ทั้งยังมีเขี้ยวและเล็บแหลมคมเช่นเดียวกัน อีกทั้งหลายคนยังบอกอีกว่า หากจ้องมองดี ๆ จะพบว่าทั้งครูกายแก้วและการ์กอยล์ ต่างก็หน้าตาน่ากลัวมากทั้งคู่

ปัจจุบันยังคงไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยันได้ว่า ครูกายแก้วและการ์กอยล์มีความเกี่ยวข้องกัน อีกทั้งจุดกำเนิดทางความเชื่อของทั้งคู่ต่างกันไกลคนละฟากโลก เนื่องจากการ์กอยล์มีจุดเริ่มต้นมาจากฝรั่งเศส ในขณะที่ครูกายแก้วเชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากนครวัดนั่นเอง.

กดติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thaiger เพจใหม่ ไม่พลาดทุกข่าวสาร คลิกที่นี่

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button