การเงินเศรษฐกิจ

เช็ก ‘รัฐสวัสดิการ’ เกิดจนตาย คนไทยได้อะไรบ้าง หลังประกาศ ตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

‘รัฐสวัสดิการ’ ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต คนไทยได้รับสิทธิอะไรบ้าง ครอบคลุมประชาชนทุกระดับ และจัดสรรงบประมาณที่แก้ปัญหาได้หรือไม่ หลังเกิดประเด็น ตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ไม่ถ้วนหน้าอีกต่อไป

เรียกว่าคนไทยผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐ หรือรัฐสวัสดิการ กำลังเดือดจัด จากกรณี ตัดงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สืบเนื่องจากวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2566 กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่า “ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”

กล่าวคือ ผู้สูงอายุหรือคนแก่จะไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าอีกต่อไป เนื่องจากมีการกำหนดเกณฑ์ว่า จะต้องมีรายได้น้อยตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งประกาศดังกล่าว ลงนามโดย พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566

 

ที่มาเว็บไซต์ : ratchakitcha

จากประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ จนดูเหมือนว่าเบี้ยคนแก่ถูกตัดงบไปเสียดื้อ ๆ ทั้งที่ไทย มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่ไม่มีรายได้หลังเกษียณ นอกจากนี้คนไทยบางส่วนยังมองว่า คนแก่ก็เคยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐสวัสดิการของคนไทยก็ไม่ได้ครอบคลุมดูแลประชาชนได้ครบทุกด้าน การมาตัดเบี้ยผู้สูงอายุเช่นนี้ อาจเป็นการผลักภาระให้ประชาชนอีกหรือไม่ แล้วคนแก่ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังแบบไร้รัฐสวัสดิการจะทำอย่างไรต่อ?

วันนี้ทีมงาน Thaiger จะขอพาทุกท่านมาเช็กรัฐสวัสดิการที่คนไทยพึงได้รับ ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยชรา คนไทยได้รับสวัสดิการอะไรจากรัฐบาลบ้าง เรามาลองดูไปพร้อม ๆ กันค่ะ

เปิด ‘รัฐสวัสดิการ’ เกิดจนตาย คนไทยได้อะไรบ้าง

ก่อนที่จะไปเช็กสวัสดิการรัฐ เรามาทำความเข้าใจกับคำนี้กันก่อน โดย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้นิยามความหมายของรัฐสวัสดิการไว้ว่า “การที่รัฐดูแลประชาชนผ่านระบบภาษี โดยรัฐจะเป็นคนดูแลจัดหาสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้ครอบคลุมประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสด้านต่าง ๆ โดยที่มาของเงินที่ใช้มาจากภาษีที่เก็บจากประชาชนเป็นหลัก” ดังนั้นแล้ว รัฐสวัสดิการที่คนไทยพึงได้รับตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต มีดังนี้

1. สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

รัฐสวัสดิการนี้ รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มี่รายได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงบุตรหลาน ทั้งนี้ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นโครงการของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะจัดสวัสดิการให้กับเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 6 ปี เดือนละ 600 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า เด็กต้องอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อครัวเรือน ไม่เกิน 100,000 บาท

2. สวัสดิการเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เรียนฟรี 15 ปี)

โครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็นสวัสดิการของรัฐที่เกิดขึ้น เพื่อต้องการมอบสวัสดิการด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กและนักเรียน โดยจัดให้มีการเรียนฟรี 15 ปี ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพเท่ากันทุกระดับ ทั้งนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง ซึ่งเด็กไทยที่มีสิทธิจะได้รับค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รวมถึงเครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพการเรียน ซึ่งในแต่ละระดับชั้นก็จะมีการจัดสรรงบประมาณที่แตกต่างกันออกไป

3. สวัสดิการงบอาหารกลางวัน

งบอาหารกลางวัน รัฐบาลจัดตั้งกองทุนขึ้นที่กระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนส่งเสริมอาหารกลางวันที่มีคุณภาพแก่เด็กไทยวัยประถม อายุเฉลี่ย 6-15 ปี ในโรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับตาม พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2523 ทุกสังกัดทั่วประเทศไทย เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลนอาหารในเด็ก รวมถึงเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ในมื้อกลางวัน

4. สวัสดิการงบอาหารเสริม (นมโรงเรียน)

งบอาหารเสริม หรือนมโรงเรียน เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการรัฐเพื่อนักเรียน โดยรัฐบาลจัดให้เด็กนักเรียนไทยในระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษาปีที่ 1-4 ได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอย่างน้อย 200 มิลลิลิตรต่อคน ในอัตรา 5 บาทต่อวัน ต่อมาใน พ.ศ. 2552 ได้ขยายรัฐสวัสดิการดังกล่าวเพิ่ม โดยให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ได้รับสิทธิโครงการนี้ด้วย

5. สวัสดิการเบี้ยยังชีพความพิการ

โดยรัฐสวัสดิการไทยนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อคนพิการหรือทุพพลภาพ เพื่อให้ได้รับสิทธิที่สำคัญอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งครอบคลุมวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย โดยผู้พิการที่มีสมุดหรือบัตรประจำตัวคนพิการ จะได้รับเบี้ยความพิการ คนละ 500 บาทต่อเดือน ซึ่งแต่เดิม เฉพาะคนพิการที่ไม่มีรายได้เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ นอกจากนั้น คนพิการที่สูงอายุ หรืออายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับทั้ง เบี้ยความพิการ และ เบี้ยผู้สูงอายุ รวมเดือนละ 1,000 บาท

6. สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์

สวัสดิการของรัฐนี้ จัดตั้งขึ้นสำหรับผู้ป่วยเอดส์ที่ทำการลงทะเบียน เบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ป่วยที่ลงทะเบียนจะได้รับเบี้ยยังชีพในเดือนถัดไป จำนวนเงิน 500 บาทต่อเดือน

7. สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

โดยรัฐสวัสดิการนี้ เดิมใน พ.ศ. 2552 รัฐบาลไทยได้เปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ โดยขยายสิทธิให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทุกคน ที่ไม่มีหลักประกันด้านรายได้เพื่อการชราภาพ สามารถขึ้นทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพ คนละ 500 บาท ต่อเดือน ก่อนถูกเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่อีกครั้ง โดยผู้ที่มีสิทธิรับเบี้ยคนแก่ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย และต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยตามที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ค่ะ

8. สวัสดิการเงินช่วยเหลือจัดการศพผู้สูงอายุ

เงินช่วยเหลือจัดการค่าทำศพผู้สูงอายุนี้ จากเดิมรัฐบาลอุดหนุนให้ค่าทำศพ 2,000 บาทต่อศพ ต่อมาได้ปรับเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อศพ โดยสามารถยืดเวลายื่นขอเงิน ภายหลังออกใบมรณบัตร ได้เป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตต้องมีสัญชาติไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้เสียชีวิตต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียน โดยให้ผู้อำนวยการเขต, นายอำเภอ หรือประธานชุมชนเป็นผู้รับรอง

9. สวัสดิการเงินสมทบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เป็นรัฐสวัสดิการที่ดำเนินงานโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในชุมชน รวมถึงจัดสถานบริการสาธารณสุขในชุมชน เพื่อให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงโอกาสในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ป้องกันโรคระบาดในชุมชน และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง

10. สวัสดิการเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมของสมาชิก และเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญให้แก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ โดยสมาชิกจะได้รับเงินสบทบจากรัฐบาลไทยแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 15-30 ปี ได้เงินสมทบจากรัฐบาล 50% ของเงินสะสม ได้รับเงินสมทบสูงสุด 600 บาทต่อปี อายุ 31-50 ปี ได้เงินสมทบจากรัฐบาล 80% ของเงินสะสม ได้รับเงินสมทบสูงสุด 960 บาทต่อปี และอายุ 51 ปีขึ้นไป ได้เงินสมทบจากรัฐบาล 100% ของเงินสะสม ได้รับเงินสมทบสูงสุด 1,200 บาทต่อปี

11. สวัสดิการเงินสมทบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

เป็นอีกหนึ่งรัฐสวัสดิการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับด้านการศึกษา เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ

12. สวัสดิการสำหรับลูกจ้างที่ทุพพลภาพ (ประกันสังคม)

โดยผู้ที่มีสิทธิรับสวัสดิการนี้ จะต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพ ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการทำงาน โดยจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 30 หรือในส่วนที่ลดลง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 เดือน ในกรณีที่ทุพพลภาพระดับเสียหายไม่รุนแรง แต่หากอยู่ในกรณีทุพพลภาพระดับเสียหายรุนแรง (การสูญเสียตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป) รับเงินทดแทนการขาดรายได้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง

13. สวัสดิการเงินสมทบกองทุนประชารัฐสวัสดิการ

เงินสมทบกองทุนประชารัฐสวัสดิการ รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่รู้จักกันในชื่อ บัตรคนจน เป็นนโยบายเรือธงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนโยบายนี้เป็นรัฐสวัสดิการ เพื่ออุดหนุนเงินให้ผู้มีรายได้น้อย สำหรับใช้จ่ายค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำค่าไฟ

14. บัตรทอง

สวัสดิการรัฐอย่างสุดท้ายในวันนี้ ทุกคนต้องเคยได้ยินอย่างแน่นอน เพราะบัตรทองถือเป็นสิทธิพื้นฐานในการรักษาพยาบาลของคนไทย เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของภาครัฐ โดยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล โดยในปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ขยายและยกระดับบัตรทอง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นรัฐสวัสดิการส่วนหนึ่งที่คนไทยพึงได้รับ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งในส่วนของเงินอุดหนุนและงบประมาณบางอย่างถูกตัดทอนลง และนำงบประมาณส่วนนั้นไปกระจายให้กับกระทรวงต่าง ๆ แทน แม้ว่าแต่ละกระทรวงจะทำหน้าที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน แต่การจัดสรรงบประมาณแล้วทุ่มเป็นสวัสดิการรัฐ อาจให้ประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนได้มากกว่าค่ะ

นอกจากนี้ สวัสดิการรัฐของไทย ยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกระดับ เช่น สวัสดิการคนโสด สวัสดิการคนไร้บ้าน อีกทั้งสวัสดิการคู่สมรสยังใช้ได้เพียงข้าราชการเท่านั้น พนักงานบริษัทอย่างเรา ๆ ต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ทั้งที่ควรเป็นสวัสดิการรัฐที่ควรได้รับทุกคนค่ะ

กดติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thaiger เพจใหม่ ไม่พลาดทุกข่าวสาร คลิกที่นี่

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button