ข่าวข่าวการเมือง

‘รังสิมันต์ โรม’ อภิปรายดุ ซัดจ้องขัดขา ‘พิธา’ ถามกลัวยุคสมัยใหม่ขนาดนั้นเลยหรือ

รังสิมันต์ โรม อภิปรายดุ ซัดจ้องขัดขา พิธา ไม่ให้เสนอชื่อนายกฯซ้ำ ผิดทุกหลักการ ถามกลัวยุคสมัยใหม่ขนาดนั้นเลยหรือ

ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังกันอยู่กับเรื่องการเสนอชื่อนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าเป็นการเสนอซ้ำญัตติหรือไม่นั้น

นาย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวว่า เรียนท่านประธาน ขออภิปรายต่อประเด็นกรณีนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯที่ถูกเสนอชื่อในวันนี้จะไม่ให้มีการนำเสนอชื่อเพื่อลงมติอีก โดยอ้างข้อบังคับประชุมสภาข้อที่ 41 ว่าเป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ห้ามนำเสนออีกในสภา

ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เป็นการตีความด้วยความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตนมีความเห็นว่าการตีความในลักษณะนี้ ตนมองว่าจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสาระสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในการเลือกนายกรัฐมนตรี พวกท่านเพียงแค่ไม่ต้องการให้ท่านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายก ขนาดทำลายทุกหลักการที่มีในรัฐธรรมนูญ เผาบ้านเพื่อไล่น้อย ตนจะแจกแจงถึงสี่เหตุผลด้วยกัน

เหตุผลข้อแรกที่จะตอกย้ำ ถึงการเสนอญัตติที่ไม่ถูกต้องนี้ คือกระบวนที่กำลังดำเนินการ มีคำสองคำท่านประธาน คำแรกคือการเสนอชื่อบุคคล หรือคำที่สองคือ ญัตติ คำสองคำนี้มีความหมายคนละเรื่อง ไม่อาจจะเอามาปนกันได้เลย เพราะการเสนอชื่อเป็นการเสนอขอความเห็นชอบบุคคล ในทางการเมือง การพิจารณาตัวบุคคลมีปัจจัยหลายอย่าง ที่จะต้องพิจารณาประกอบกัน ดังนั้นโดยทั่วไป หากเป็นกรณีที่มีความมุ่งหมายจะไม่ให้มีการเสนอบุคคลซ้ำ ต้องมีการบัญญัติกฎหมายชัดแจ้ง

เช่น กรณีสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดอย่างชัดแจ้ง ว่าผู้ที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา จะเข้ารับการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่ไม่ได้ หรือแม้แต่การสรรหา กกต. ก็จะมีบทบัญญัติเดียวกัน หากนำมาเทียบเคียงกับการเสนอนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจน ว่าห้ามเสนอซ้ำอีก ตามข้างต้นที่กล่าวมา

การหยิบยกข้อบังคับที่ 41 มาโต้แย้งว่าการเสนอชื่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายก เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ไม่สามารถกระทำซ้ำ เป็นการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เป็น สส. กันกี่สมัยแล้ว กฎหมายสูงสุดไม่เข้าใจหรือไร

ข้อสอง หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ สำนึกกันบ้าง ที่มาอยู่กันตรงนี้ เพราะเรามีรัฐธรรมนูญ หลักการนี้เป็นหลักการที่ไม่มีการยืนยันว่ากฎหมายใดสามารถโต้แย้งรัฐธรรมนูญได้ ถ้าดูบทบัญญัติการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือมาตรา 159 ก็ระบุว่าการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีให้เลือกจากแคนดิเดตนายกพรรคการเมืองที่แจ้งเอาไว้ เฉพาะจากพรรคการเมืองได้รับเลือกไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการแจ้งรายชื่อที่ว่านั้นก็เป็นไปตามมาตรา 88 ที่พรรคการเมืองส่งชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ตอนสมัคร

ไม่มีตรงไหนแคนดิเดตคนหนึ่งถ้าถูกเสนอชื่อ ลงมติไม่ผ่าน ห้ามเสนอซ้ำอีก ดังนั้นการอ้างเอากฎหมายข้อบังคับการประชุม ซึ่งมีศักดิ์ที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญมาใช้ ฟังให้ชัดตนไม่ได้บอกว่าข้อนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับข้อนี้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความมุ่งร้ายที่ตีความให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพียงแค่ต้องการเตะตัดขาพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ข้อสาม อย่างที่ตนกล่าวไปแล้ว การลงมติเลือกนายกฯ ไม่ใช่เลือกใครก็ได้ ต้องเลือกจากแคนดิเดตที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเลือกตั้งแล้ว พรรคใดได้ ส.ส. ถึงร้อยละ 5 บุคคลในพรรคนั้นๆสามารถเป็นแคนดิเดตนายกเพื่อลงมติได้เสมอ

คำถามสำคัญ เมื่อมีการเสนอชื่อแคนดิเดตคนใดคนหนึ่งเพื่อลงมติ เขาอาจจะได้รับการเห็นชอบเป็นนายกฯ หรือได้คะแนนไม่มากพอ ทำให้ต้องลงมติใหม่ก็เป็นไปได้ แต่การที่เขาคนนั้นไม่ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากรัฐสภา เขาสูญเสียของการแคนดิเดตนายกฯไปเลยอย่างงั้นหรือ? คำตอบมันไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะไม่มีตรงไหนบัญญัติไว้แบบนั้น ในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเอาไว้ จะให้อ้างข้อบังคับเพื่ออ้างกับโทษทางสถานะของแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ ซึ่งเกี่ยวพันธ์กับองค์กร ตามรัฐธรรมนูญ พวกท่านทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด

เช่นนั้นแล้วการตีความข้อบังคับ ข้อบังคับประชุมที่ 41 การตีความห้ามไม่ให้เสนอ พิธา เป็นนายกรัฐมนตีที่ได้รับเสียง ไม่เพียงพอต่อการลงมติครั้งหนึ่ง จะไม่สามารถลงมติในครั้งถัดๆไปได้อีก เป็นการตีความขัดกับรัฐธรรมนูญ

ประการที่สี่ข้อสุดท้าย ถ้าเราลองพิจารณามาตรา 272 วรรคสอง เรื่องการปลดล็อคนายกคนนอก เมื่อเลือกจากแคนดิเดตที่ส่งชื่อมาไม่ได้ แต่ในมาตราและวรรคดังกล่าว สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้อีก และการลงมตินายกฯ ไม่ได้มีแค่กระบวนการกฎหมายเท่านั้น แต่มันคือกระบวนการประชาธิปไตย ที่ต้องสอดคล้องกับเจตจำนงประชาชนให้มากที่สุด มันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ

นายรังสิมันต์ โรม กล่าวอีกว่า ที่สำคัญฝากท่านประธานสภาไปถึงเพื่อน ส.ส.เป็นพิเศษ วันที่ รธน. มาตรา 272 หมดเขตบังคับใช้ไปแล้ว พึงระลึก บรรทัดฐานที่พวกท่านร่วมสร้างในวันนี้ จะกลับมาสร้างความลำบากให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพวกท่านเองในอนาคต ให้ระวังให้ดี สรุปว่าการพยายามตีความข้อบังคับตัดสิทธิ์ ไม่ให้ นายพิธา ลงชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มีข้อขัดแย้ง รธน. ขัดครรลองประชาธิปไตย

นายรังสิมันต์ โรม ปิดท้ายว่าขอสรุปว่าการพยายามตีความข้อบังคับเพื่อตัดสิทธิ์แคนดิเดตนายก เพื่อลงมติรอบ 2 เป็นข้อปัญหาขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ฝากเอาไว้ให้คิด พวกท่านกลัวยุคสมัยใหม่ขนาดนั้นเลยหรือครับ?

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button