ข่าว

เผยผลตรวจ พลายศักดิ์สุรินทร์ พบก้อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ซม. ที่สะโพก 5 จุด

คณะสัตวแพทย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ เผยผลตรวจ พลายศักดิ์สุรินทร์ พบก้อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ซม. ที่สะโพก 5 จุด

เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงผลตรวจพลายศักดิ์สุรินทร์จากห้องปฏิบัติการ หลังสัตวแพทย์เก็บตัวอย่างในช่วงแรกที่เดินทางถึงไทย โดยโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย Elephant Hospital, TECC รายงานความคืบหน้า สุขภาพพลายศักดิ์สุรินทร์ ระหว่างวันที่ 2-9 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

คณะสัตวแพทย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำการตรวจสุขภาพและพฤติกรรม พบว่า ช้างกินอาหารเฉลี่ยวันละ 120-200 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นอาหารจำพวกหญ้าสด โดยเสริมผลไม้ มะขามเปียก และเกลือ ในระหว่างมื้อ ช้างดื่มน้ำจากสายยางได้ดี การขับถ่ายเป็นปกติ โดยเฉลี่ยวันละ 10-12 ครั้ง ครั้งละ 4-5 ก้อน ลักษณะก้อนมูลปกติ มีการย่อยอาหารปกติ ไม่มีกลิ่นเหม็นคาวหรือมีเศษเมือกปะปน ช้างนอนหลับพักผ่อนได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ นอนครั้งละ 1-3 ชั่วโมง เฉลี่ยคืนละ 2 ครั้ง ความสมบูรณ์ของร่างกาย อยู่ในระดับคะแนน 3/5

นอกจากนี้ ช้างเริ่มคุ้นเคยกับโทนเสียงของควาญช้าง และเข้าใจความหมายคำพูดที่ควาญช้างใช้สื่อสารได้ ยอมให้ควาญช้างสัมผัสตัวและขึ้นบนคอได้ในบางเวลา

สำหรับความผิดปกติที่พบจากการตรวจทางกายภาพภายนอก (Physical Examination) พบก้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตรที่สะโพก จํานวน 5 จุด พบก้อนขุ่นขาวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตรที่กระจกตาของตาด้านขวา ขาหน้าด้านซ้ายเหยียดตึง ไม่สามารถงอขาได้ เล็บเท้าทั้ง 4 เท้ายาวผิดรูป

ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการตามที่สัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเลือด ซีรั่ม มูล และป้ายช่องปาก ปลายงวง เพื่อตรวจวิเคราะห์ผลโรคติดต่อ ในสัปดาห์ที่ 1 ที่ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์เข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังโรคติดต่อ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน กรมปศุสัตว์นั้น

ผลตรวจไม่พบพยาธิในเลือด (Trypanosoma evans) และไม่พบปรสิตในมูลช้าง ไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรควัณโรค ไม่พบสารพันธุกรรมต่อเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ไม่พบแอนติบอดีต่อโรคฉี่หนู ไม่พบแอนติบอดีแบบ non-structural protein ของเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย และไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อก่อโรคแท้งติดต่อ (Brucella abortus)

ทั้งนี้ ในกระบวนการเฝ้าระวังโรคช้างตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ ได้กำหนดให้ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ต้องอยู่ภายในพื้นที่ควบคุมอย่างน้อย 30 วัน และต้องผ่านการตรวจโรคตามที่ระบุต่อไปอีก ในวันที่ 15 และ 30 ซึ่งสถาบันฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button