เศรษฐกิจ

วิธีย้ายสิทธิบัตรทอง 2566 ต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ เปิดโอกาสรักษามากขึ้น

เปิดวิธีย้ายสิทธิบัตรทอง หรือย้ายสิทธิบัตร 30 บาท ทำได้ง่าย ๆ สะดวกต่อการยื่นรักษากรณีย้ายที่อยู่อาศัย ย้ายที่ทำงาน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ทางกรุงเทพมหานครและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เชิญชวนประชากรแฝงกว่า 7 แสนคน ที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนสิทธิบัตรทองเพื่อใช้บริการสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ พร้อมจับมือโรงพยาบาลเอกชน รับส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เข้าถึงการรักษาสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น

วิธีย้ายสิทธิบัตรทอง 2566 ต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ

ก่อนย้ายสิทธิบัตรทอง ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรเข้าไปตรวจสอบสิทธิได้ทางเว็บไซต์ nsho.go.th โดยเด็กแรกเกิดจะเกิดสิทธิประมาณ 30 วัน ส่วนผู้ใหญ่ที่มีประกันสังคมอยู่แล้วจะขึ้นเป็นสิทธิประกันสังคม สำหรับวิธีการย้ายสิทธิบัตรทองจากต่างจังหวัดมาที่กรุงเทพมหานคร สามารถทำได้ง่ายผ่าน 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. แอปพลิเคชัน สปสช. จากนั้นกดเลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ

2. ไลน์ OA สปสช. (พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso ในช่องเพิ่มเพื่อน) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง

3. ติดต่อด้วยตนเอง ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันเวลาราชการ

4. โทรสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้

ย้ายสิทธิบัตรทอง ทำอย่างไรบ้าง
ภาพจาก Facebook Page : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เอกสารที่ต้องใช้ในการย้ายสิทธิบัตรทอง มีอะไรบ้าง

หลังจากที่รู้ช่องทางในการย้ายสิทธิบัตรทองกันแล้ว สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในการดำเนินการย้ายสิทธิบัตรทองนั้น ใช้เพียงบัตรประชาชนตัวจริงใบเดียว และหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ดังนี้

1. หนังสือรับรองของเจ้าของบ้าน

2. หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน

3. หนังสือรับรองผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง

4. เอกสารหรือหลักฐานที่มีชื่อของผู้ประสงค์ลงทะเบียน เช่น ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่พัก สัญญาเช่าที่พัก

5. ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนทำหนังสือรับรองตนเองได้

บัตรทอง ใช้สิทธิได้ผ่านทางช่องทางไหน
ภาพจาก Facebook Page : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เงื่อนไขการย้ายสิทธิบัตรทอง

1. ผู้ใช้งานต้องมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2. อายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

3. ลงทะเบียนด้วยตนเอง ไม่สามารถทำแทนบุคคลในครอบครัวได้

4. เปลี่ยนหน่วยบริการได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี

การย้ายสิทธิบัตรทอง ถือเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการเข้ารักษาตัวทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษา หากเลือกสถานพยาบาลใกล้บ้าน ก็จะได้รับการรักษาได้เร็วโดยไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องค่ารักษาพยาบาล

ทั้งนี้ หากมีข้อสอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้ง ไลน์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button