ข่าวภูมิภาค

เร่งสำรวจค้นหาฉลามวาฬหลังถูกประมงปล่อยกลับทะเล ไร้วี่แววทั้งตัวเป็นๆ และ ซาก

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ ( 20 พ.ค.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และ ชายฝั่ง พร้อมด้วยนายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร จัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลนลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่เรือประมงแสงอรุณ 3 ปล่อยปลาฉลามวาฬ ซึ่งติดอวน และ ถูกนำขึ้นเรือ ก่อนที่จะปล่อยลงทะเล ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะราชา กับ เกาะเฮ เกาะโหลน และเกาะบอน อ.เมือง จ.ภูเก็ต รวมทั้งการค้นหาตามเส้นทางที่คาด ว่า ฉลามวาฬตัวดังกล่าวจะว่ายน้ำไปหากยังมีชีวิต หรือ ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำกรณีที่เสียชีวิต
โดยการสำรวจในวันนี้ ออกสำรวจคลอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 24 ตารางกิโลเมตร หรือ เป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร ระหว่างเกาะโหลน เกาะเฮ เกาะบอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้กล้องส่องทางไกล รวมทั้งบินโดรน และใช้เครื่องเอ็กโก้ซาวน์ ในการค้นหา ซึ่ง เครื่องเอ็กโก้ซาวน์ จะตรวจจับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ทะเลได้ รวมทั้งถ้าฉลามวาฬดังกล่าวเสียชีวิตและจมอยู่ใต้ทะเลก็จะมองเห็นเป็นรูปร่างของฉลาม แต่อย่างไรก็ตามในการตรวจสอบวันนี้พบแค่ฝูงปลาขนาดเล็ก และยังไม่พบฉลามวาฬในพื้นที่ที่ค้นหาแต่อย่างใด ซึ่งในการค้นหาจะทำต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3 – 4 วัน
สำหรับการหาฉลามวาฬในครั้งนี้ จะมี 2 กรณี คือ 1. หากพบฉลามวาฬตัวดังกล่าว ยังมีชีวิตและได้รับบาดเจ็บจะรีบดำเนินการช่วยชีวิต และ รีบนำไปรักษาที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากซึ่งได้จัดเตรียมรถพยาบาลสำหรับสัตว์ทะเลหายากไว้พร้อมแล้ว เมื่อรักษาหายก็จะปล่อยกลับคืนสู่ทะเลต่อไป และ หากพบว่าฉลามเสียชีวิตแล้ว จะเร่งดำเนินการผ่าชันสูตรซากอย่างเร่งด่วน โดยทีมสัตว์แพทย์และนักวิชาการประมง ของ ศวทม.เพื่อหาเหตุการณ์ตายที่แท้จริงต่อไป และนำผลการการชันสูตรไปสนับสนุนใช้เป็นหลักฐานทางคดี ส่งให้พนักงานสอบสวนประกอบสำนวนในการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดทั้งในส่วนของไต๋ ลูกเรือ และเจ้าของเรือต่อไป
อย่างไรก็ตามนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวภายหลังลงพื้นที่ค้นหาฉลามวาฬ ว่า จากกรณีที่มีเรือประมง นำฉลามวาฬขึ้นมาบนเรือ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในส่วนของคดีความ ทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของสัตว์ทะเลหายาก และเรื่องของการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จึงได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมประสานงานในการที่จะดูแล ทั้งในเรื่องของคดีความ และในเรื่องของฉลามวาฬว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
แต่เมื่อยังไม่พบก็จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 – 3 วัน ในการค้นหา ถ้าหากไม่เลวร้ายเกินไปภายใน 5 วัน ถ้ายังไม่พบซากก็แสดงว่าปลาฉลามวาฬยังคงมีชีวิตรอด แต่หากฉลามวาฬ เสียชีวิตซากก็จะลอยขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ การค้นหาจึงยังต้องดำเนินการต่อไป
นายจตุพร กล่าวต่อไป การตรวจสอบหาฉลามวาฬ ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าได้รับบาดเจ็บจะได้นำไปรักษาให้หาย สำหรับฉลามวาฬเป็นสัตว์ทะเลหายาก ตลอดปีที่ผ่านมาทางกรมฯ มีการรายงาน ว่า มีฉลามวาฬ เข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทยทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน อ่าวไทย ไม่เกิน 100 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก
นายจตุพร ยังได้กล่าวอีกว่า สาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายากที่ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้น ส่วนหนึ่งจากการผ่าพิสูจน์ทำให้ทราบถึงสาเหตุการตายของสัตว์เหล่านี้ว่าเกิดจากการทำประมงมากที่สุด
ส่วนการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด กรณีฉลามวาฬในครั้งนี้ได้มีการแก้งความกำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว 17 ราย ประกอบด้วยไต๋เรือแสงอรุณ 2 และแสงอรุณ 3 รวมทั้งลูกเรืออีก 15 คน อยากจะให้เป็นอุทาหรณ์ข้อให้เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย การดูแลสัตว์ทะเลหายาก อยากให้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่จะต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้สัตว์เหล่านี้ยังคงอยู่คู่กับทะเลไทยตลอดไป
ขณะที่ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า โอกาสที่ฉลามวาฬตัวดังกล่าวจะมีชีวิตรอดถือว่าน้อยมาก เนื่องจากฉลามวาฬเป็นสัตว์ที่มีกระดูกอ่อน การยกขึ้นมาบนเรือและวิธีการปล่อยกลับทะเลอาจจะทำให้ได้รับบาดระบบภายในได้ เนื่องฉลามวาฬมีน้ำหนักหนักมาก สำหรับวิธีที่ถูกต้องในการปล่อยฉลามวาฬที่ติดอวนจะต้องไม่ยกพ้นจากผิวน้ำมาวางไว้บนเรือ ชาวประมงจะต้องปล่อยอวนให้เอียงและปล่อยให้ว่ายน้ำออกไปเอง ซึ่งเรื่องนี้ชาวประมงส่วนใหญ่ทราบดีอยู่แล้ว สำหรับกรณีนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดวิธี และอาจจะทำให้ฉลามได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือตายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button