ผู้ว่าฯภูเก็ต นำทีมลงพื้นที่สำรวจร่องน้ำ – แนวปะการังเขากวาง หน้าเกาะเฮบ้านอ่าวกุ้ง
จากกรณีมีการแชร์ข้อมูลในเฟซบุ๊ก และแฟนเพจ ต่างๆ ถึงความห่วงใยของของชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รวมทั้งมีการร้องเรียนมายังจังหวัดถึงข้อห่วงใยของชาวบ้านที่เกรงว่าปะการังเขากวาง และ แซ่แดง ซึ่งอยู่บริเวณหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เอกชนจะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ขนาดเรือจอดได้ 72 ลำ โดยการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าเป็นการสร้างในที่ดินเอกชน แต่ทางเข้าของเรือจะต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือสามารถเข้าไปจอดได้ จนมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมาก
และเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว เมื่อเย็นวานนี้ ( 16 พ.ค.) นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9, นายสาคร ปู่ดำ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต,นายณัฐกฤษณ์ พลเพชร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต, นายมนัส เกิดทรัพย์ รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก, ผู้แทนศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน และผู้เกี่ยวข้อง
ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง บริเวณพื้นที่เกาะเฮ อ่าวกุ้ง โดยมีนายประดิษฐ พวงเกษ ประธานชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง พร้อมด้วยสมาชิกฯ ร่วมกันให้ข้อมูลสภาพพื้นที่ พร้อมนำสำรวจแนวปะการัง รวมถึงชี้แจงถึงผลกระทบหากมีการก่อสร้างมารีน่า โอกาสนี้ยังได้มีการไปตรวจสอบบริเวณพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดที่จะมีการขุดลอกร่องน้ำ สำหรับให้เรือเข้า-ออกด้วย
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริเวณหน้าเกาะเฮ ไปถึงเกือบถึงแนวป่าชายเลยจะมีแซ่แดงเป็นระยะ กระจายไปทั่วบริเวณ ซึ่งตัวโครงการที่ที่มีการระบุว่าจะก่อสร้างจะอยู่ด้านหลังต้นโกงกาง นอกจากนั้นยังพบปะการังน้ำตื้นที่กำลังแตกตัวอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หน้าเกาะเฮลงมาพบว่ามีแนวปะการังเป็นที่เห็นปะการังเขากวางอย่างชัดเจน
นายนรภัทร กล่าวภายหลังการลงสำรวจพื้นที่ พร้อมพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพทางโซเซียล เกี่ยวกับกรณีที่มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งจะทำการขอสร้างท่าเทียบเรือหรือมารีน่าในพื้นที่ โดยอ้างว่ามีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็น นส.3 ก โดยชาวบ้านมีความเป็นห่วงว่า หากมีการอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะส่งกระทบกับแนวปะการังในบริการดังกล่าว ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ใช่ท่าเทียบเรือที่มีอยู่เดิม จึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อ
ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตในการสร้างท่าเรือต่อกรมเจ้าท่า หรือทางจังหวัดภูเก็ตแต่อย่างใด มีเพียงการยื่นเรื่องต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขออนุญาตจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยทราบจากทางชุมชนว่าการรับฟังความคิดเห็นดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง และ ตามหลักการแล้วกรณีที่เอกชนจะมีการดำเนินการใดๆ ในลักษณะเช่นนี้จะต้องมีการแจ้งให้นายอำเภอท้องที่ทราบ เพื่อที่จะมีการร่วมรับฟังข้อมูล รวมทั้งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงด้วย”
นายนรภัทร กล่าวว่า จากการลงตรวจสอบพื้นที่พบว่าสภาพพื้นที่ มีความเกี่ยวเนื่องกับป่าชายเลน และ ทะเล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงต้องแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวรับทราบด้วย และ มีข้อมูลว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปรับฟังและโต้แย้งข้อมูลต่าง ๆ
ในส่วนของการจัดรับฟังความคิดเห็นเมื่อแล้วเสร็จ ทาง สผ.ก็จะต้องส่งเรื่องมายังจังหวัด ซึ่งมีคณะอนุกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้พิจารณาว่า เห็นชอบด้วยหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน ในการให้ข้อมูลหรือข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างไรก็ตามในส่วนของตนก็จะรายงานข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนกลางด้วย เช่น กรมเจ้าท่า กรม ทช. มหาดไทย เป็นต้น
ส่วนกรณีแนวปะการังจะได้รับผลกระทบจากการขุดลอกร่องน้ำหรือไม่นั้น นายนรภัทร กล่าวว่า ทราบเรื่องจากชาวบ้านว่าแนวพื้นที่การขุดร่องน้ำที่มีการนำเสนอในคราวที่มีการเปิดประชาพิจารณ์นั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะผ่านจุดใดบ้าง เพราะในการสร้างมารีน่าจะต้องนำเรือเข้าไปจอด ทราบว่าพื้นที่ก่อสร้างมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็น นส.3 ก แต่การจะนำเรือเข้าไปจอดก็จะต้องมีร่องน้ำ ซึ่งจะต้องมีการขุด
แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรทางโครงการยังไม่ได้มีการชี้จุดที่จะมีการดำเนินการ ส่วนจะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณา ส่วนนโยบายของทางจังหวัดที่ยุทธศาสตร์ให้ภูเก็ตเป็นมารีไทม์ฮับ หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล
แต่ในการลงทุนนั้นก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แม้จะมีการส่งเสริมเรื่องของธุรกิจมารีน่า แต่การส่งเสริมก็ต้องอยู่ภายใต้การดำเนินการที่ถูกต้องตามกำหมายและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือส่งผลกระทบในภาพรวม ถ้ามีการดำเนินการถูกต้องก็พร้อมที่จะส่งเสริม