ข่าว

รู้จัก 4 ตระกูลใหญ่ ผู้ถือส่วนแบ่ง 1 ใน 5 ของตลาดหุ้นไทยทั้งประเทศ

ชวนรู้จัก 4 ตระกูลนักธุรกิจใหญ่ ที่มีอำนาจในหุ้นไทยรวม 20% หรือราว 1 ใน 5 ของตลาดหุ้นไทยทั้งประเทศ ใครทำธุรกิจอะไรบ้าง เช็กที่นี่

การเติบโตของตลาดหุ้นไทย ถือเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่รู้กันหรือไม่ว่า ในตลาดการซื้อขายหุ้นของประเทศไทย แท้จริงแล้วมี 4 ตระกูลใหญ่ ที่ถือส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 20% จนเรียกได้ว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อทิศทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มความเป็นไปของตลาดหุ้นไทยทั้งประเทศ วันนี้ไทยเกอร์เลยอยากถือโอกาส พาทุกท่านไปรู้จักกับทั้ง 4 ตระกูลและธุรกิจในเครือของพวกเขาด้วยกัน

4 ตระกูลใหญ่ ผู้ทรงอิทธิพลในตลาดหุ้นไทย

สำหรับตระกูลของผู้ที่ถือส่วนแบ่งรวม 20% ในตลาดหุ้นของประเทศไทย ประกอบไปด้วย เจียรวนนท์, รัตนาวะดี, จิราธิวัฒน์ และ สิริวัฒนภักดี โดยแต่ละตระกูลมีธุรกิจในเครือ ดังนี้

1. เจียรวนนท์ (CP) 8%

ตระกูลที่ถือส่วนแบ่งในตลาดหุ้นไทยมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ เจียรวนนท์ ที่รู้จักกันในฐานะ ซีพี (CP) หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจเครือใหญ่ที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยซีพีได้แยกธุรกิจออกเป็น 8 สายธุรกิจหลัก ได้แก่ เกษตรอุตสาหรกรรมและอาหาร, ค้าปลีก, สื่อสารและโทรคมนาคม, อีคอมเมิร์ซและดิจิทัล, อสังหาริมทรัพย์, ยานยนต์และอุตสาหกรรม, ยาและเวชภัณฑ์, การเงินและการธนาคาร มูลค่ารวม 43.66 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ซีพี (CP) ได้มีโรงงานผลิตรวม 370 แห่ง, มีศูนย์วิจัยพัฒนา 95 แห่ง, มีฟาร์มเลี้ยง 989 แห่ง, มีศูนย์กระจายสินค้า 149 สาขา, ครอบครุมกว่า 21 ประเทศ ทั้งยังมีร้านเซเว่นรวม 13,141 สาขา, ซูเปอร์มาร์เก็ต 2,791 สาขา และมีพนักงานรวม 428,576 คน อีกทั้งยังมีบริษัทย่อยหลายอย่าง อาทิ CPAll, CPF และ True

นอกจากนี้แล้วในปี 2023 นิตยสาร Forbes ยังได้ออกมาเปิดเผยอีกว่า เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในไทยและอันดับที่ 116 ของโลก ด้วยทรัพย์สินรวม 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

รู้จัก 4 ตระกูลใหญ่ ส่วนแบ่ง 20% หุ้นไทย

2. รัตนาวะดี (GULF, AIS) 8%

ต่อกันที่ลำดับที่ 2 ของตระกูลที่มีส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 8% นั่นก็คือ รัตนาวะดี ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม 41.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมธุรกิจหลายอย่าง อาทิ GULF, AIS, INTOUCH และ THAICOM

ทั้งนี้ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสฮือฮาขึ้นเมื่อ Forbes ได้ออกมารายงานผลการจัดอันดับมหาเศรษฐีของโลก พบว่า สารัชถ์ รัตนาวะดี ได้ขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย แซงหน้าเจ้าสัวใหญ่อย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี และ ธนินท์ เจียรวนนท์

รู้จัก 4 ตระกูลใหญ่ ส่วนแบ่ง 20% หุ้นไทย

3. จิราธิวัฒน์ (Central) 3%

สำหรับตระกูลที่มีส่วนแบ่งในตลาดหุ้นไทยเป็นลำดับที่ 3 ได้แก่ จิราธิวัฒน์ จากเครือธุรกิจเซ็นทรัล โดยมีมูลค่าตลาดรวม 18.34 พันล้านดอลลาร์ ครอบคลุมธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ค้าปลีกและแบรนด์สินค้า, ศูนย์การค้า และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์, โรงแรม และร้านอาหาร, บริการด้านการเงินและฟินเทค, เดอะวัน (The1) และ ธุรกิจใหม่ในยุคดิจิทัล (New Economy)

นอกจากนี้แล้วตระกูลจิราธิวัฒน์ ยังมีกิจการที่ไม่ได้ใช้ชื่อเซ็นทรัลอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ZEN, กิจการสื่อสิ่งพิมพ์ Bangkok Post, เครือโรงแรม SALA, ธุรกิจอาหาร Potato Corner และค่ายเพลง SPICY DISC

ทั้งนี้ในช่วงปี 2021 Forbes ได้จัดให้ตระกูลจิราธิวัฒน์ อยู่ลำดับที่ 10 ของตระกูลที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชีย โดยคาดการณ์ทรัพย์สินไว้คร่าว ๆ ราว 5.8 แสนล้านบาท

รู้จัก 4 ตระกูลใหญ่ ส่วนแบ่ง 20% หุ้นไทย

4. สิริวัฒนภักดี (TCC) 1%

ปิดท้ายกันไปด้วยตระกูลสิริวัฒนภักดี ผู้ถือส่วนแบ่งตลาดหุ้นไทยมูลค่า 5.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีกิจการภายใต้การดูแลอยู่หลายอย่าง ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมและการค้า, ประกันและการเงิน, อสังหาริมทรัพย์, เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

ตัวอย่างรายชื่อแบรนด์และบริษัทภายใต้การดูแลของสิริวัฒนภักดีที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี อาทิ BigC, ประกันภัยอาคเนย์, Oishi, BJC, ASSET WORLD และ UNIVENTURES เป็นต้น

รู้จัก 4 ตระกูลใหญ่ ส่วนแบ่ง 20% หุ้นไทย

ทั้งหมดนี้คือรายชื่อ 4 ตระกูลใหญ่ที่ถือครองส่วนแบ่งตลาดหุ้นไทยรวม 20% งานนี้บอกเลยว่ามีแต่ตระกูลดัง เจ้าของกิจการที่คนไทยรู้จักและพบเห็นอยู่ตลอดเวลา ส่วนในอนาคตจะมีกิจการหรือตระกูลไหน ขยับขึ้นมาแซงหน้าพวกเขาเหล่านี้ได้หรือไม่ คงต้องรอติดตามไปพร้อม ๆ กัน.

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button