ข่าวข่าวการเมืองเลือกตั้ง 66

รัฐบาลแห่งชาติ คืออะไร ทำไมจึงเป็นแนวคิดสำคัญ ในการจัดตั้งรัฐบาล 2566

เปิดที่มา รัฐบาลแห่งชาติ คืออะไร ทำไมถึงต้องมีการพูดถึงบ่อยครั้ง เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล คำนิยามนี้ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไร สามารถพลิกโฉมการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไปในทิศทางไหนได้บ้าง

หลายคนอาจจะทราบดีว่าช่วงนี้การเมืองไทยกำลังอยู่ในกระบวนการการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยพรรคก้าวไกลได้ขึ้นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ได้มีข่าวดีลลับ ปรากฎออกมาอยู่บ่อยครั้งว่ามีพรรคอื่น ๆ จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อให้ก้าวไกลกลายเป็นรัฐบาลเดี่ยว แล้วการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติคืออะไร สำคัญกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลอย่างไรบ้าง ในวันนี้ทีมงานไทยเกอร์ได้เสาะหาคำตอบเพื่อคลายข้อสงสัยให้กับคุณแล้ว

“รัฐบาลแห่งชาติ” คืออะไร ทำไมจึงเป็นกลไกที่ควรระวัง ในการจัดตั้งรัฐบาล

อันที่จริงแล้วคำว่า ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ยังเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้มีคำนิยามอย่างแน่ชัด แต่หากมีการนำเสนอในการจัดตั้งรัฐบาล มักจะถูกเสนอในลักษณะ รัฐบาลร่วมของพรรคการเมืองหลายพรรคที่ไม่มีฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลที่มีพรรคร่วมหลายพรรค และมีฝ่ายค้านน้อยมาก หรืออาจเป็นการให้ความสำคัญกับนายกรัฐมนตรีพระราชทาน นายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือบุคคลที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เป็นต้น

ในต่างประเทศได้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ในรูปแบบของ ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ หรือ National Unity Government โดยจะตั้งขึ้นมาในช่วงที่ประเทศมีสถานการณ์วิกฤติเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่ประเทศประสบพบเจอกับภัยสงคราม หรือภัยทางการเมือง แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการนิยามคำว่า ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ อย่างแน่ชัด และยังไม่เคยมีรัฐบาลแห่งชาติตามคำนิยามดังกล่าว

รัฐบาลแห่งชาติ คืออะไร
ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

รัฐบาลแห่งชาติ กับการเมืองไทย สัมพันธ์กันอย่างไร

ถึงแม้ว่าจะไม่มีคำนิยามอย่างแน่ชัด แต่ประเทศไทยได้มีการนำเสนอแนวคิด ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งยุครัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้มีการนำเสนอแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจอย่างการรัฐประหาร ปี 2549 ก็มีข้อเสนอแนวคิดนี้จาก พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ

สาเหตุที่เกมการเมืองไทยได้มีการหยิบยกเอาคำว่า ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ มาใช้เป็นทางออกในการจัดตั้งรัฐบาล โดยการรวบรวมทุกพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน ส่วนใหญ่แล้วมักมาจากความเชื่อที่ว่าด้วยประเทศไทยจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว เพื่อความสงบของประเทศและยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น จึงจะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเลือกตั้งครั้งใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

รัฐบาลแห่งชาติในประเทศไทย จะถูกโยงเข้ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรีคนกลาง, นายกรัฐมนตรีคนนอก หรือนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ที่มักจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และได้รับการแต่งตั้งในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมือง โดยตำแหน่งนายกดังกล่าวกับรัฐบาลแห่งชาติ มีความเกี่ยวโยงกันดังต่อไปนี้

รัฐบาลแห่งชาติกับตำแหน่งนายกฯ คนกลาง

ข้อเสนอ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ มักถูกโยงเข้ากับข้อเสนอ ‘นายกฯ คนกลาง’ ซึ่งรายชื่อผู้ถูกเสนอย่อมผูกโยงกับพรรคการเมืองและคนที่เสนอเป็นหลัก เพื่อจัดตั้งเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจที่ไม่มีฝ่ายค้าน และทำหน้าที่เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น สำหรับตำแหน่งนายกฯ คนกลาง มักถูกหยิบยกมาพูดเมื่อประเทศไทยประสบพบเจอกับวิกฤตทางการเมืองมักลงเอยด้วยทางเลือก 3 ทาง ได้แก่ 1. ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ 2. ไม่ยุบสภา แต่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และ 3. ไม่ยุบสภา แต่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

รัฐบาลแห่งชาติกับตำแหน่งนายกฯ คนนอก

ตามหลักการระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ‘นายกรัฐมนตรีคนนอก’ หรือ ‘นายกคนนอก’ เป็นการกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกระแสนายกคนนอก ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จนถึงช่วงการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีว่าต้องเป็น ส.ส. ด้วย นอกจากนี้วุฒิสภาและสภาชิกผู้แทนราษฎร สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

รัฐบาลแห่งชาติกับตำแหน่งนายกฯ พระราชทาน

‘นายกฯ พระราชทาน’ คือนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ เป็นรูปแบบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (Royal Prerogative) ในระบอบประชาธิปไตยที่สืบทอดมาจากประเพณีการปกครองดั้งเดิม โดยมักระบุข้อความไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หลังจากเกิดการรัฐประหารว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 ได้มีการระบุไว้ในมาตรา 5 อย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์ทรงไม่สามารถจัดตั้งนายกฯ พระราชทานได้ทันที ต้องสงวนไว้ใช้ในสถานการณ์พิเศษเท่านั้น เช่น เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง กระทั่งไม่มีผู้ใดรับเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ หรือไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะทำนวยการในการบริหารประเทศ ณ ขณะนั้น

วิกฤตการณ์ดังกล่าวข้างต้น กล่าวได้ว่าการโปรดเกล้าตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่กระทำได้ เนื่องจากเป็นรูปแบบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยที่สืบทอดมาจากประเพณีการปกครองในอดีต

นายกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เกี่ยวข้องกับรัฐบาลแห่งชาติไหม
ภาพจาก : หอสมุดรัฐสภา

สรุปแล้ว ทฤษฎีรัฐบาลแห่งชาติ ยังไม่มีคำนิยามที่แน่ชัด แต่ประเทศไทยก็ได้มีการเสนอรัฐบาลแห่งชาตินับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าวได้มีความเกี่ยวโยงกับนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ นายกฯ คนกลาง, นายกฯ คนนอก และ นายกฯ พระราชทาน ที่มักจะมาจากการแต่งตั้งในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตการรณ์ทางการเมือง ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้จะมีการควบรวมพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติตามข่าวลือหรือไม่ ก็คงต้องจับตากันต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก1 2

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button