ครบรอบ 9 ปี รัฐประหาร 2557 ย้อนไทม์ไลน์ จุดเริ่มต้นความขัดแย้งการเมืองไทย
ย้อนประวัติศาสตร์ รัฐประหารปี 2557 ครบรอบ 9 ปี ของการยึคอำนาจจากกองทัพทหาร ท่ามกลางการประท้วงแสนดุเดือดระหว่างคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ที่มีการสูญเสียเกิดขึ้นมากมายทั้งสองฝ่าย
วันนี้ 22 พฤษภาคม 2566 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมีการแถลง MOU ข้อตกลงร่วมในการบริหารประเทศ ภายใต้การนำของว่าที่นายกคนที่ 30 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นอกจากวันนี้จะถือเป็นวันธงชัยที่ประชาธิปไตยจะได้กลับมาเบ่งบานอีกครั้งในรอบ 9 ปี วันนี้ก็ยังเป็นวันครบรอบวันรัฐประหาร โดย ค.ส.ช เมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พลิกประวัติศาสตร์การเมืองไทยจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สู่การปกครองภายใต้ระบอบทหาร ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วทั้งประเทศ Thaiger จะพาไปดูไทม์ไลน์ย้อนหลังว่า เหตุสลดที่เป็นต้นกำเนิดของการทำรัฐประหารนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง ไปอ่านกันเลยครับ
‘รัฐประหาร 2557’ เส้นทางการเปลี่ยนผ่านอำนาจการเมืองไทย
พ.ศ. 2556 – 2557 : พ.ร.บ นิรโทษกรรมฯ ชนวนสู่ความไม่สงบ
หลังจากที่ผลการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาในช่วง พ.ศ. 2556-2557 ได้เกิดมีการประท้วงต่อต้านการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ โดยกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
โดยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง “สภาประชาชน” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ก็จัดชุมนุมเช่นกัน การปะทะกันมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ส่งผลให้ต่อมาเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่การเลือกตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันนั้นเพราะถูกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง
ในเวลาต่อมาศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 และในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและรัฐมนตรีที่มีมติคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งอันเนื่องมาจาการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557
ส่งผลให้รัฐมนตรีที่เหลืออยู่เลือก “นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติราชการนายกรัฐมนตรีแทนนางสาวยิ่งลักษณ์
20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 : วินาที ค.ส.ช ประกาศกฎอัยการศึก
สถานการณ์ที่ตึงเครียดภายในประเทศไทยที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศหยุดชะงักเนื่องจากมีการประท้วงต่อต้านการเลือกตั้งจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ความไม่สงบเกิดขึ้น ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลานั้น ได้ส่งผลให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เริ่มกระบวนการยึดอำนาจรัฐบาล โดย จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. ที่สามารถเรียงเป็นไทม์ไลน์ตามเวลาได้ดังนี้
- เวลา 03:30 น. – กำลังทหารพร้อมอาวุธ เข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ทั้ง ภาคพื้นดินและผ่านดาวเทียม หลายช่อง ตามคำสั่งประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ขอให้เชื่อมสัญญาณออกอากาศจาก สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5
- เวลา 06:30 น. – พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ออกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ทาง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
- เวลา 08:25 น. – กอ.รส.ออกคำสั่งฉบับที่ 1 ให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด รับสัญญาณถ่ายทอดแถลงการณ์จากกองทัพบกทุกครั้งที่ได้รับการประสาน
- เวลา 08:42 น. – กอ.รส.ออกคำสั่งฉบับที่ 2 ให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองอยู่ในพื้นที่เดิม โดย กปปส. ให้อยู่ที่ ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร และ ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงหน้า ศูนย์ราชการฯ เขตหลักสี่ ส่วน นปช. ให้อยู่ที่ ถนนอักษะ เขตทวีวัฒนา
- เวลา 09:48 น. – กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 3 ห้ามสื่อข่าวที่กระทบต่อการรักษาความสงบ
- เวลา 10:36 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 6 สั่งให้โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระงับการออกอากาศจำนวน 10 ช่อง รวมถึงวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาต
- เวลา 11:06 น. – กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 5 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา กอ.รส.
- เวลา 12:40 น. – กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 4 เชิญบุคคลสำคัญร่วมประชุมแก้ปัญหาความไม่สงบ
- เวลา 14:00 น. – กอ.รส. เริ่มประชุมตามคำสั่งฉบับที่ 4 ที่สโมสรทหารบก สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมประชุม
- เวลา 19:34 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 8 ขอความร่วมมือสื่อสังคมออนไลน์ ระงับส่งข้อความปลุกระดม สร้างความรุนแรง ไม่เคารพกฎหมาย ต่อสิทธิบุคคล
- เวลา 19:45 น. – กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 7 สั่งให้โทรทัศน์ดาวเทียมระงับการออกอากาศเพิ่มเติมอีก 4 ช่อง
- เวลา 20:09 น. – กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 9 สั่งห้ามสื่อทุกแขนง เชิญผู้ไม่มีตำแหน่งราชการ แสดงความเห็นก่อความขัดแย้ง พร้อมสั่งให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด เข้าระงับการชุมนุมต่อต้าน การปฏิบัติงานของ กอ.รส.
- เวลา 20:49 น. – กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 10 สั่งห้ามข้าราชการ-เจ้าหน้าที่พลเรือน-ประชาชน พกพา-ใช้อาวุธสงครามและวัตถุระเบิด เว้นทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยตามคำสั่ง
- เวลา 21:04 น. – พันเอก วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะ โฆษก กอ.รส. ชี้แจงขั้นตอนการประกาศกฎอัยการศึกว่าเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ผ่าน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และ กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 12 ให้ตำรวจ, เจ้าหน้าที่พลเรือน, หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 : การประชุมท่ามกลางความตึงเครียด
กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองยังชุมนุมต่อไป กอ.รส. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาทางออนไลน์ ในช่วงบ่ายวันนั้น มีประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 6/2557 เพื่อเรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต โดยห้ามมิให้มีผู้ติดตามเดินทางมาด้วย
โดยการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดตั้งแต่เวลา 13.30 น. จน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจให้มาประชุมกันใหม่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 14.00 น.เพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน
วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 : ฟางเส้นสุดท้าย ก่อกำเนิดรัฐประหาร
- เวลา 14:00 น. – ประชุมร่วม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศครั้งที่ 2 ตามประกาศกอ.รส. ฉบับที่ 8/2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม ระหว่างการประชุม พลเอก ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ หลังจากเวลาผ่านไปสถานการณ์ยังตึงเครียดและหาข้อสรุปไม่ได้ ประยุทธ์จึงประกาศในที่ประชุมว่าจะยึดอำนาจการปกครอง และสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง
- เวลา 16:30 น. – ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที รวมถึงให้ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) หมดอำนาจ แต่คำสั่งต่าง ๆ ยังมีผลต่อเนื่องอยู่
สรุป ด้วยชนวนเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประท้วงต่อต้าน พ.ร.บ นิรโทษกรรมฯ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรง มีคนเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่าง ๆ ภายในประเทศ ได้กลายมาเป็นเหตุผลชอบธรรมที่กองทัพทหารได้อ้างเพื่อใช้ในการทำรัฐประหารในปี 2557 ส่งผลให้เกิดเป็นแรงกระเพื่อมทางเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นต่อสู้ของพลเมืองที่ไม่เห็นด้วย การจับกุมผู้เห็นต่าง สิ่งเหล่านี้เกิดในรัฐบาลที่นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวลากว่า 9 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 จึงเป็นวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องด้วยเป็นวันที่รวมเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน กล่าวคือ เป็นวันที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบอบการปกครองภายใต้ทหาร กระทั่งในปีนี้ การเมืองไทยได้กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริง